ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555
วีรกรรม 9 รัฐมนตรีหน้าใหม่ บัญชีดำอเมริกา บัญชีแดงทักษิณ
สุดท้ายการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้เป็นเพียงกระแสข่าวการเมืองอีกต่อไป
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ 16 ตำแหน่ง เป็นการสลับตำแหน่ง 6 คน และมีการปรับรัฐมนตรีเข้าใหม่ 10 คน
9 ใน 10 คน เป็นบุคคลที่อยู่ในโควตาของพรรคเพื่อไทย ที่ล้วนแล้วแต่มีสายสัมพันธ์กับตระกูล "ชินวัตร" ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
และอีกหลายคนมีจุดด่าง-รอยดำ เป็นแผล "ตำหนิ" ที่สังคมยังรอคอยฟังคำอธิบายความเหล่านั้น
"ประชาชาติธุรกิจ" ได้ประมวลประวัติ-ผลงาน-สายสัมพันธ์ของ 10 รัฐมนตรีหน้าใหม่ ที่จะเข้าร่วมงานใน "ครม.ปู 2" ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร สามารถติดตามอ่านได้จากบรรทัดต่อจากนี้
"นลินี ทวีสิน" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีต ส.ว.ปี 2549 แต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน ทำให้ถูกเพิกถอนตำแหน่ง สุดท้ายจึงผันตัวมาเล่นการเมืองในสังกัดพรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย ในที่สุด
นอกจากตระกูล "ทวีสิน" ยังเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศ เธอยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ "คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน" อดีตปลัด กทม.ที่ถูกปลดออก ในช่วงที่มีคดีรถดับเพลิงฉาว และยังถูก ป.ป.ช. สอบสวนด้วยข้อหาร่ำรวยผิดปกติ
ทั้งนี้ "นลินี" เป็นหนึ่งในคนไทยที่ถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2551 โดยสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติของกระทรวงการคลังระบุว่า เธอเป็น
นักธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของนายโรเบิร์ต มูกาเบ ผู้นำซิมบับเว ที่ถูกอเมริการะบุว่าเป็นบุคคลอันตรายในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และคอร์รัปชั่นในประเทศ
"นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จบการศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) เข้าสู่วงการเมืองด้วยการลงเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2554
ในช่วงสรรหา "ครม.ปู 1" เขาเคยถูกคาดการณ์ให้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นมือประสานสิบทิศให้กับรัฐบาล สุดท้ายถูกกันตัวไว้ให้อยู่ในโควตา ส.ส.เพื่อคอยควบคุมเกมการเมืองและบริหารงานในสภาแทน
อดีตเคยเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน), รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) รับผิดชอบงานด้านภาพลักษณ์และกิจกรรมสัมพันธ์, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และดูแลบริษัท ชินวัตร ไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด, บริษัท มูฟวิ่งซาวน์ด จำกัด, บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์ จำกัด และบริษัท เอสซี แมทช์บ็อกซ์ จำกัด
"ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตนายกเทศมนตรี จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนที่จะผันลงมาเล่นการเมือง สังกัดพรรคประชากรไทย ในปี 2539 จนกระทั่งปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อไทย เป็น ส.ส.มาแล้ว 5 สมัยติดต่อกัน
"ทนุศักดิ์" เป็น 1 ใน 8 ส.ส.ที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นถอดถอนความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 62 เพราะเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพ
"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์พีทีวี และผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้
เริ่มเล่นการเมืองสังกัดพรรคชาติพัฒนา กระทั่งพรรคยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย จึงได้ร่วมทีมปราศรัยล่วงหน้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ จนได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโฆษกพรรคไทยรักไทย
ในช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน เขาร่วมต่อสู้ในนาม "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" กระทั่งมวลชนได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็น "กลุ่มคนเสื้อแดง" ในที่สุด
และด้วยสาเหตุที่เป็น "แกนนำเสื้อแดง" ปัจจุบันยังมีข้อกล่าวหาที่อยู่ในกระบวนการของตำรวจและอัยการ โดยเมื่อปี 2551 อัยการฝ่ายคดีอาญาได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง "ณัฐวุฒิ" และพวก รวม 4 คน ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ
ปี 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกมาเปิดเผยเอกสาร "แผนผังขบวนการล้มเจ้า" ซึ่งหนึ่งในขบวนการที่ถูกกล่าวหานั้นมีชื่อ "ณัฐวุฒิ" ร่วมด้วย ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องเรียกเขา และพร้อมไปรับฟังข้อกล่าวหา
ในปีเดียวกันนี้เอง พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษก็ได้นำสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้อง "ณัฐวุฒิ" และพวกรวม 19 คน ที่เป็นแกนนำ นปช.เป็นจำเลยต่อศาลอาญารัชดา ในข้อหาร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135 รวม 3 กระทง
"จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ข้าราชการพันธุ์แท้ ที่ไต่เต้าตำแหน่งมาตั้งแต่ปลัดอำเภอ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน โดยหลังเกษียณอายุราชการแล้วได้รับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ตั้งแต่ปี 2539-2553 กระทั่งมาถึงการเป็นรัฐมนตรีในที่สุด
สุดท้ายตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมือง สังกัดพรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย จนได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรค กระทั่งหลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เขาได้รับการไว้วางใจให้เป็น "ผู้จัดการรัฐบาล" ในการประสานงานสิบทิศกับพรรคร่วมทั้งหมด
ผลงานของเขามาโดดเด่นที่สุดในช่วงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เขารับบทบาทเดินสายเจรจาหาข้อยุติศึกเรื่องน้ำระหว่างประชาชน รัฐบาล และท้องถิ่น ในฐานะ "ประธานคณะกรรมการจัดการชาวบ้านที่รื้อกระสอบทรายในแต่ละพื้นที่"
"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก Massachusetts Institute of Technology และปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก University of Illinois at Urbana-Champaign
เขามักได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมให้กับพรรคอยู่เสมอ จากอดีตที่มีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษาให้ "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กระทั่งเลือกตั้งครั้งล่าสุด เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาให้กับ พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ที่เพิ่งถูกปรับให้เป็น รมว.กลาโหม ในที่สุด
"ชัชชาติ" เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท วิทยุการบิน จำกัด กรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท ขนส่ง จำกัด ผู้ช่วยอธิการบดี (สำนักงานจัดการทรัพย์สิน) จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
"อารักษ์ ชลธาร์นนท์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จบการศึกษา Electronic Engineering จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ประธานกรรมการบริหารสายธุรกิจ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์, กรรมการบริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), กรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ชินวัตร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้อำนวยการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ "บุญคลี ปลั่งศิริ" อดีตประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บุคคลที่ พ.ต.ท.ทักษิณมอบอำนาจให้ดูแลธุรกิจแทนตลอดมา
"สุชาติ ธาดาธำรงเวช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มทำงานการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีในปี 2546 เป็น รมว.คลัง 2 รัฐบาล ทั้งสมัย
นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเป็น "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย" สมัยที่พรรคพลังประชาชนยังไม่โดนยุบ รวมการเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อปี พ.ศ. 2553 พร้อมกล่าวโจมตีรัฐบาลในขณะนั้นอีกด้วย
เขาจบการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ The London School of Economics and Political Science สหราชอาณาจักร ปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ปริญญาบัตรหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 1 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
"ศักดา คงเพชร" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาดำรงตำแหน่งในโควตาภาคอีสาน เขาเป็นหนึ่งในผู้เปิดโปง "แก๊ง ออฟ โฟร์" ของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
และเป็นเจ้าของวาทกรรม "หักหลังทักษิณ" ทำให้กลุ่ม "เพื่อนเนวิน" และนายเนวิน ชิดชอบ ถอยทัพไปตั้งพรรคภูมิใจไทย และร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ในที่สุด
เขาจบปริญญาตรี ด้านบริหารการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เป็นอดีตสมาชิกสภาจังหวัดร้อยเอ็ด และ ส.ส.ร้อยเอ็ด 4 สมัย ถือเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา ในพรรคพลังประชาชน ร่วมกับไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม และปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
"ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จบการศึกษาปริญญาตรี Computer Science Southeast Missouri State University ปริญญาโท Industrial Management University of Central Missouri และ Public Policy & Management Harvard University ปัจจุบันเป็นคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ปี 2543-2547 เขาดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี ปี 2541-2543 รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคลและกฎหมาย และปี 2538-2541 ผู้อำนวยการสถาบัน ประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา
นอกจากนี้ ยังเคยเป็นกรรมการสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ในคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ อนุกรรมการวางแผนอุดมศึกษา ในคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอนุกรรมการประเมินผล สถาบันวิทยาการการเรียนรู้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น