ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554
จับตาอนาคตยูโรก่อนวันพิพากษา 9 ธ.ค.
จับตาอนาคตยูโรก่อนวันพิพากษา 9 ธ.ค.ขณะ1ในผู้ให้กำเนิดยูโรชี้สกุลเงินเดียวยุโรปมีช่องโหว่ตั้งแต่แรก
หากพูดกันตามภาษาชาวเรือแล้วละก็ ทุกคนที่ใช้ชีวิตแบบ "คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล" จะยึดหลักอย่างหนึ่งว่า "จงอย่าปล่อยให้ปัญหาบานปลาย" ยกตัวอย่าง สมมุติมีน้ำปริมาณเพียงเล็กน้อยเล็ดรอดเข้ามาในเรือ โดยเจ้าของเรือไม่ทันสังเกตุ และเมื่อรู้แล้วก็คิดว่า"ไม่เป็นไร" เพราะเป็นแค่ปริมาณน้ำเล็กๆน้อยๆ
และขณะที่เรือโคลงเคลงเพราะกระแสคลื่นกลางทะเลนั้น น้ำปริมาณเล็กๆที่เล็ดรอดไหลเข้ามาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนท่วมพื้นเรือ เจ้าของเรือก็ยังไม่รับรู้ถึงสัญญาณอันตราย ปล่อยให้น้ำเข้าเรือไปเรื่อยๆ ไม่หาทางแก้ไข สุดท้าย เรือลำนี้ก็อัปปางกลางทะเล
ที่กล่าวมาข้างต้น คือเหตุการณ์สมมุติ แต่สามารถนำมาเทียบเคียงได้กับ ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเงินสกุลเดียวยุโรป หรือยูโรนั่นเอง เพราะเมื่อครั้งที่มีการประกาศใช้เงินสกุลเดียวยุโรปร่วมกัน เมื่อปี 2542นั้น บรรดาผู้นำทางการเงินและการเมือง ต่างก็รู้แก่ใจว่า ระบบนี้ มีข้อบกพร่องร้ายแรงอยู่แล้ว
และขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆในยูโรโซน ร่วมกันใช้เงินสกุลเดียว พวกเขาก็ยังคงมีตลาดพันธบัตรของตัวเองแยกต่างหากจากกัน นี่คือการไม่รับรู้ถึงสัญญาณอันตราย และปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ เหมือนกรณีเรืออัปปางกลางทะเลได้เช่นกัน
ฌากส์ เดลอร์ส์ หนึ่งในกลุ่มผู้ให้กำเนิดระบบสกุลเงินเดียวยุโรป เองยังยอมรับ ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟของอังกฤษว่า ยูโรโซน มีข้อบกร่องหรือช่องโหว่มาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะไม่มีศูนย์กลางอำนาจที่จะประสานนโยบายเศรษฐกิจของชาติสมาชิกในยูโรโซนทั้งหมดเข้าด้วยกัน จึงเปิดช่องให้สมาชิกบางคนบริหารการเงิน การคลังอย่างไม่มีวินัยจนก่อหนี้สาธรณะมากมายมหาศาลและแก้ปัญหาหนี้เองไม่ได้
ในฐานะเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป(อีซี) ตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2538 เดอลอร์ส์ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในกระบวนการต่างๆที่นำไปสู่การถือกำเนิดของยูโรโซน ซึ่งความเห็นของเขามีขึ้นท่ามกลางวิกฤติหนี้ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนสั่นคลอนสเถียรภาพการเงินและเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนเอง
เดลอร์ส์ ยังพูดชัดว่า วิกฤติหนี้ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากแนวคิดของเงินสกุลเดียวเสียทั้งหมด แต่มาจาก "การบริหารที่ผิดพลาด" ของบรรดาผู้นำทางการเมือง ซึ่งกำกับดูแลเงินสกุลเดียวนี้ แต่ทำเป็นตาบอดมองไม่เห็นความอ่อนแอของพื้นฐานทางการเงินและเศรษฐกิจของชาติสมาชิกที่ไม่สมดุลกัน
"บรรดารัฐมนตรีคลังของทุกประเทศในกลุ่มยูโรโซน ไม่ต้องการเห็นอะไรที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งทำให้พวกเขาถูกบังคับให้ต้องทำไปตามที่ผู้นำทางการเมืองชี้นำ" อดีตประธานอีซี วัย 86 ปีกล่าว
เดลอร์ส์ กล่าวทิ้งท้ายไว้น่าคิดว่า วิกฤติหนี้ครั้งนี้ ประเทศในยุโรปทั้งหมดล้วนมีส่วนต้องรับผิดชอบและต้องถูกตำหนิเท่าๆกัน
อันว่าพันธบัตรนั้น คือสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่รัฐบาลประเทศต่างๆนำออกมาใช้และมีมูลค่าหลายพันล้านยูโร เมื่อต้องการกู้ยืมเงิน และพันธบัตรเหล่านี้ ก็เหมือนหุ้นในตลาดหุ้นที่เปิดโอกาสให้บรรดานักลงทุนทั่วไปเข้ามาซื้อขาย หากนักลงทุนไม่ชอบพันธบัตรรัฐบาลประเทศใด ก็สามารถขายทิ้งพันธบัตรเหล่านั้นได้ ซึ่งทำให้ราคาพันธบัตรร่วงลงไป แน่นอนย่อมหมายความถึงอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่าย ถ้าหากว่าต้องการกู้ยืมเงินมากขึ้น
บรรดานักลงทุน อาจจะขายพันธบัตร ถ้าเกิดวิตกกังวลว่า รัฐบาลประเทศนั้นๆจะไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ ในยามปกติ สิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลคือเจ้าของสกุลเงินของตัวเอง รัฐบาลสามารถสั่ง ธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งเป็นผู้ดูแลสกุลเงิน ให้พิมพ์เงินออกมามากเท่าไหร่ก็ได้เท่าที่ต้องการเพื่อนำไปจ่ายคืนหนี้ นี่จึงทำให้พันธบัตรรัฐบาลประเทศต่างๆอย่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือ อังกฤษ เป็นพันธบัตรที่ปลอดภัยด้านการลงทุนที่สุดเพราะสกุลเงินของประเทศเหล่านี้ได้รับการยอมรับ
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้านักลงทุนต่างชาติรายใด ไม่ชอบพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ ก็ไม่เพียงแค่ขายทิ้งพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษได้เท่านั้น แต่ยังสามารถขายทิ้งเงินปอนด์ได้ด้วย ซึ่งทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลง ช่วยให้เศรษฐกิจของอังกฤษ แข่งขันได้มากขึ้น ช่วยให้อังกฤษเติบโตขึ้น ช่วยให้รัฐบาลอังกฤษขึ้นภาษี
แต่ยังไม่จบแค่นี้ เมื่อนักลงทุนคนหนึ่งคนใดขายทิ้งเงินปอนด์ นักลงทุนคนอื่นๆก็ต้องซื้อเงินเหล่านั้นไป จึงมีคำถามว่าผู้ซื้อคนนั้นจะลงทุนเงินปอนด์ที่ไหน ก็กลับไปสู่พันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ การที่อังกฤษมีสกุลเงินของตัวเอง รัฐบาลอังกฤษ จึงมีสิ่งค้ำประกันในเงินสดที่ตัวเองถือครองอยู่ว่าจะเพียงพอสำหรับการกู้ยืมได้
ที่นี้มาพิจารณากลุ่มยูโรโซน บรรดานักลงทุนเชื่อว่า กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และอีกหลายๆประเทศในกลุ่มยูโรโซน ที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการคลัง ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ แถมสามประเทศยังไม่เหมือนอังกฤษ ตรงที่ไม่มีธนาคารกลางของตัวเอง ที่สามารถพึ่งพาการพิมพ์ธนบัตรและซื้อหนี้ตัวเองได้
เท่ากับตอกย้ำวิกฤติให้รุนแรงยิ่งขึ้น บั่นทอนความมั่นใจของตลาด ทำลายศรัทธาความเชื่อมั่นของประชาคมโลกไปด้วย แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับ อาการไข้ของยุโรป แพร่มาถึงภูมิภาคอื่นๆจนรับรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ เอเชีย ละตินอเมริกา
แถมวิกฤติหนี้ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากไม่กี่ประเทศ กำลังทำท่าลามถึงอิตาลี และสเปน ทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวผู้นำอิตาลีใหม่และล่าสุด นายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี ก็ได้หารือกับบรรดาแกนนำพรรค เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้ผ่านมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ วงเงิน 2-2.5 หมื่นล้านยูโรแล้ว แผนนี้มีรายละเอียดมากมายทั้งลดภาษีและเก็บภาษีเพิ่ม มีเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ และทำให้งบประมาณของประเทศกลับมาสมดุลให้เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้
พัฒนาการของวิกฤติหนี้ยุโรป เดินมาถึงจุดที่ บรรดาผู้นำทุกชาติต้องมานั่งหารือกันในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ เพื่อผ่าทางตันเรื่องนี้ให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ จนทำให้ยูโรโซนแตก หรือเงินสกุลเดียวยุโรป กลายเป็นเงินที่ไร้ค่าในสายตานักลงทุน
ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษไม่แพ้กันคือ นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่แสดงท่าที ไม่ประนีประนอม เกี่ยวกับการเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ และเห็นว่า การออกพันธบัตรยูโรร่วมกันเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ แถมยังพูดโจมตีนักการเมืองที่ไม่มีวินัยในการคลังในยูโรโซนด้วย
ท่าทีและคำพูดของนางแมร์เคิล ถูกต่อต้านทันที จากนักการเมืองอาวุโสอย่าง นายกูเอนเธอร์ โอตติงเกอร์ คณะกรรมาธิการด้านพลังงานของยุโรป และนายเฮลมุท ชมิดท์ อดีตรัฐมนตรีคลังของเยอรมนี ที่แย้งว่า ท่าทีที่ไม่ประนีประนอมของนางแมร์เคิล กำลังนำภัยมาสู่ประเทศ และเห็นว่า การใช้นโยบายนี้ของนางแมร์เคิล จะทำให้เยอรมนีโดดเดี่ยวตัวเองจากยุโป ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประเทศแน่นอน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น