วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปภ. แจงเกณฑ์จ่ายชดเชย-เผยเงินบริจาคเหลือ 448 ล้าน



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ปภ. แจง หลักเกณฑ์จ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กรณีบ้านเสียหาย ทั้งในต่างจังหวัด และกรุงเทพฯ

วันนี้ (1 ธันวาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานะของกองทุนสำนักนายกรัฐมนตรี โดยพบว่า ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2554 มียอดเงินบริจาค รวมทั้งสิ้น 1,091,108,584.63 บาท แต่คงเหลือทั้งสิ้น 448,393,377.30 บาท

โดยนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ชี้แจงว่า งบประมาณทั้งหมดได้ใช้จ่ายในเรื่องการซื้อถุงยังชีพ และจ่ายเงินสมทบช่วยเหลือให้กับส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวยังมีการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือประชาชนอีก 2 กรณี คือ

1) กรณีหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าจัดการศพ 50,000 บาท โดยยึดข้อมูลจาก ปภ. ว่าจ่ายให้ใครเป็นหลัก และสำนักนายกรัฐมนตรีจะจ่ายสมทบให้ทันที

2) กรณีบ้านพังเสียหาย เฉพาะกรณีพังทั้งหลังเท่านั้น สำนักนายกรัฐจะจ่ายเงินเป็นค่าวัสดุก่อสร้างให้ไม่เกินหลังละ 240,000 บาท โดยจะอาศัยข้อมูลจาก ก.ช.ภ.จ. ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งประชาชนจะได้รับเงินช่วยเหลือกรณีนี้จากศูนย์ราชการ ภายใต้กำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง

โดยสำนักนายกรัฐมนตรีจะยึดข้อมูลจากเอกสารการซื้อจริง-จ่ายจริงเป็นหลักฐานในการอนุมัติเบิกจ่ายต่อไป

สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กรณีบ้านเสียหาย ที่จะได้รับเงินชดเชยใน 2 ระดับ คือ

1) กรณีบ้านเสียหายทั้งหลัง จะชดเชยให้ไม่เกิน 30,000 บาท

2) เสียหายบางส่วน เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

โดยเกณฑ์วัดระดับความเสียหายใน 3 ระดับ มีดังนี้

1) เสียหายทั้งหมด 80-100% (โครงสร้างทั้งหมดเสียหาย ไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้งานได้)

2) เสียหายบางส่วน 40-80% (โครงสร้างบางส่วนเสียหาย แต่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก สามารถซ่อมแซมให้ ใช้งานได้)

3) เสียหายเล็กน้อย ไม่เกิน 40% (เกิดความเสียหายเฉพาะส่วนที่ไม่กระทบกับโครงสร้างและการใช้งาน)

ทั้งนี้ นายวิบูลย์ ระบุว่า การชดเชยกรณีบ้านพังเสียหายนั้น จะใช้งบประมาณตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หากส่วนราชการใดทำงานล่าช้าจนเลยกำหนดเวลา จะต้องใช้เงินทดรองราชการของจังหวัดตนเองในการจ่ายเงินชดเชยแก่ประชาชน

ในส่วนของต่างจังหวัดนั้น จะมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัยมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้รับผิดชอบสำรวจความเสียหาย และทำหน้าที่อนุมัติจ่ายเงินให้แก่ประชาชน เบื้องต้นให้ประชาชนไปยื่นคำร้องที่ว่าการอำเภอได้ทันที จากนั้นทางอำเภอ จะส่งเจ้าหน้าที่ในรูปแบบคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กิ่งอำเภอ (ก.ช.ภ.กอ.) เข้าไปตรวจสอบสภาพความเสียหายจริงอีกครั้ง โดยพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยให้ยึดตามมูลค่าที่เสียหายจริงเป็นได้ 2 กรณี ดังนี้

1) กรณีที่พื้นที่เหล่านั้นอยู่ห่างไกล ตัวเมือง อันเป็นอุปสรรคในการขนส่งวัสดุก่อสร้าง ก.ช.ภ.จ.จะพิจารณาชดเชยเป็นเงินสด โดยประชาชนสามารถติดต่อขอรับเงินได้หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบสภาพความ เสียหายจริง ซึ่งแต่ละจังหวัดจะพิจารณาเองว่าจะให้ประชาชนขอรับเงินที่อำเภอหรือศาลาว่ากลางจังหวัด โดยยึดเอาความสะดวกของประชาชนเป็นหลัก

2) กรณีที่จังหวัดสามารถขนส่งสะดวก ก.ช.ภ.จ.จะพิจารณาชดเชยเป็นวัสดุก่อสร้าง โดยรายละเอียดจะเป็นการตกลงกันระหว่างความต้องการของประชาชน และเกณฑ์การช่วยเหลือของ ก.ช.ภ.จ.

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเขตการปกครองพิเศษ คณะรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้แก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อนุมัติจ่ายเงินกรณีบ้านพังเสียหายในเขตพื้นที่ กทม. โดยผ่านกลไกของสำนักงานเขตที่จะต้องเข้าไปสำรวจสภาพบ้านตามหลักเกณฑ์เดียวกัน






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น