วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ใครไม่ย้าย ไม่อพยพ ขออยู่บ้านรับมือน้ำ ปภ.แนะนำเกร็ดน้ำท่วม




นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่คนไทยคงไม่อาจลืม สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ล่าสุดปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลกำลังเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่กรุงเทพฯและปริมาณฑล โจมตีแนวคันกั้นน้ำที่อยู่ตลอดแนว 2 ฝั่งริมคลองและริมตลิ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนอยู่ภาวะจิตตก !

นอกจากการรับมือน้ำท่วม ทั้งก่อกระสอบทราย กำแพงอิฐบล็อก เท่าที่เจ้าของบ้านจะทำได้ แต่ถ้าป้องกันไม่อยู่จริง ๆ คำถามก็คือ...เมื่อน้ำท่วมแล้วควรจะต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง ! นี่คือ สิ่งที่จะต้องรู้เท่าทัน

"ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับนี้มีข้อมูลในการใช้ชีวิตท่ามกลางภาวะน้ำท่วมเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจาก "จุลสารเพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฉบับเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ระวัง "อุปกรณ์ไฟฟ้า"

การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในช่วงที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกไฟฟ้าดูด มีข้อควรปฏิบัติ ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้าที่แผงสวิตช์ไฟ หรือสับสวิตช์ไฟลง จากนั้นให้ย้ายสวิตช์ไฟพ้นจากระดับที่น้ำท่วมถึง ก่อนนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาใช้งานควรตรวจสอบให้อุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่ในสภาพปลอดภัย

สำหรับผู้ใช้งาน ต้องไม่ยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ สวมรองเท้า เมื่อเปิดใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วพบสิ่งผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นไหม้ เสียงดัง ฯลฯ ให้หยุดใช้งานในทันที

ส่วนการช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูด 1) ห้ามใช้มือเปล่าหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสถูกตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด ให้ยืนอยู่บนพื้นหรือวัสดุที่แห้งและสวมรองเท้าพื้นยาง

2) รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยสับสวิตช์ไฟ ยกสะพานไฟและเบรกเกอร์ออกในทันที หรือนำวัสดุที่เป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง ฯลฯ มากระชาก ผลัก หรือดันตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดออกจากจุดที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว

และ 3) เมื่อช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูดออกมาได้แล้ว หากหมดสติให้ปั๊มหัวใจหรือผายปอดโดยการเป่าปาก และรีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที

น้ำท่วมขังนานต้องระวัง

แต่ถ้าต้องใช้ชีวิตในช่วงน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เพื่อความปลอดภัย กรณีเป็น "บ้านชั้นเดียว" ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยยกสะพานไฟขึ้น

ส่วนกรณี "บ้าน 2 ชั้น" ให้ช่างไฟฟ้ามาดำเนินการแยกวงจรไฟฟ้าชั้นบนและชั้นล่างของบ้าน เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าบริเวณชั้นล่างของบ้าน ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ชั้นบนของบ้านเท่านั้น

เรื่องใกล้ตัวยังรวมถึงการขับถ่ายอุจจาระ ให้ใส่ถุงพลาสติกและใส่ปูนขาวลงไปเล็กน้อย ปิดปากถุงให้แน่น แล้วซ้อนใส่ถุงดำอีกชั้นก่อนนำไปทิ้งในบริเวณที่จัดไว้

สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือสัตว์มีพิษที่อาจหนีน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะบริเวณใต้ตู้ รองเท้า เสื่อ ควรปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่อาจเป็นพาหะของโรคในช่วงน้ำท่วม

ส่วนการโดยสารเรือ ให้สวมใส่เสื้อชูชีพหรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดไว้ในเรือ เช่น ถังแกลลอนเปล่าที่มีฝาปิดมิดชิด ลูกมะพร้าวแห้ง ห่วงยาง เพื่อใช้ลอยตัวกรณีเรือล่ม สิ่งของมีค่า เอกสารสำคัญเก็บไว้ในถุงพลาสติกกันน้ำ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น