วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แคนาดาเตรียมคลอด"แบงค์พลาสติก" เงินหมดอายุขัย-เรารีไซเคิลได้!


ภาพกราฟฟิก: บีบีซีแม็กกาซีน



ธนาคารแห่งชาติแคนาดาจะเริ่มใช้ธนบัตรมูลค่า 100 ดอลลาร์ที่ทำจากโพลิเมอร์ในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนการผลิตธนบัตรและเพื่อทำให้การปลอมแปลงธนบัตรนั้นยากขึ้นไปอีก


เอ แต่ถ้าแบงค์พลาสติกดีจริง ทำไม่ประเทศอื่นๆทั้งหลายในโลกเขาไม่หันมาใช้แบงค์แบบนี้กันบ้างละ?


ก่อนอื่น มาดูกันสิว่า ธนบัตรที่ผลิตจากโพลิเมอร์มีข้อดีอะไรบ้าง


หนึ่ง ธนบัตรที่ผลิตจากโพลิเมอร์ หรือ "แบงค์พลาสติก" มีอายุการใช้งานนานกว่าแบงค์ที่ผลิตจากกระดาษ นอกจากนี้ มันยังสกปรกได้ยาก ซึ่งเหมาะกับประเทศเขตร้อนที่มีความชื้นและอุณหภูมิสูง เพราะแบงค์ที่ผลิตจากพลาสติกจะไม่ดูดซับความชื้น



อนึ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1988 แบงค์พลาสติกที่ผลิตในประเทศออสเตรเลียมีเทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร ด้วยการมีช่องใสบนธนบัตร รวมถึงการพิมพ์ลายน้ำแบบไมโครพรินต์


แต่เมื่อเร็วๆนี้ แคนาดาได้ออกมาเกทับว่า ประเทศของตนมีเทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงแบงค์พลาสติกที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งได้แก่การใส่ภาพสามมิติเข้าไปในช่องใสบนธนบัตร


ทั้งนี้ แคนาดาจะผลิตธนบัตรพลาสติกมูลค่า 50 ดอลลาร์ตามมาในเดือนมีนาคมปีหน้า รวมถึงธนบัตรมูลค่า 20 ดอลลาร์ในช่วงปลายปี และในอนาคต การนำธนบัตรพลาสติกที่เหลือ ซึ่งได้แก่ธนบัตรมูลค่า 10 และ 5 ดอลลาร์มาใช้นั้นจะหมายความว่า ธนบัตรทุกใบในแคนาดาจะกลายเป็นธนบัตรพลาสติกทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2013


ข้อดีอีกอย่างของแบงค์พลาสติกคือ พวกมันมีอายุการใช้งานนานกว่าแบงค์กระดาษ 2.5 เท่า หรือมีอายุการใช้งานประมาณ 7 ปีเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ พลาสติกยังเป็นวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้อีกด้วย


"ในอนาคต มันเป็นไปได้ที่เราจะมีโอกาสได้นั่งเก้าอี้พลาสติกซึ่งทำมาจากแบงค์เหล่านี้" จูลี่ จิลลาร์ด นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งธนาคารชาติแคนาดากล่าวกับบีบีซีแม็กกาซีน


อย่างไรก็ดี ใช่ว่าแบงค์พลาสติกจะเริ่ดไปเสียทุกอย่าง ข้อเสียของนวัตกรรมใหม่นี้ได้แก่


-มันจะทำให้การพับธนบัตรเป็นเรื่องยาก!


-ระวังนับแบงค์ไม่ครบจำนวน เพราะแบงค์พลาสติกพวกนี้มันลื๊น ลื่น


-ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศก็อาจจะยังไม่มีเทคโนโลยีในการรีไซเคิลแบงค์พลาสติก เพราะฉะนั้นวิธีเดียวที่พวกเขาทำได้เพื่อทำลายแบงค์ที่หมดอายุก็คือ การเผา ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษต่ออากาศ


นอกจากนี้ ในระยะสั้น แบงค์พลาสติกยังมีต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่มีงบจำกัด


อ้อ และเหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ พวกธนาคารกลางหน่ะ เป็นพวก "อนุรักษ์นิยม" ซึ่งใช่ว่าจะยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆซะที่ไหนกันละ!



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น