ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
ลุ้นศึกซักฟอก ปชป.ถล่ม"ประชา" สะเทือนถึง"ยงยุทธ-ยิ่งลักษณ์"
จับตาศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ "ประชา พรหมนอก" ปชป.จัด 11 ขุนพล ชำแหละ 3 ประเด็น พ่วง พ.ร.ฎ.อภัยโทษ
ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณากันในวันนี้ (27 พ.ย.) นับเป็นการยื่นญัตติครั้งแรกของฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย
แม้สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อนหน้านี้ว่า ชาวบ้านร้านตลาดให้ความสนใจการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้แค่ 11.63% แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเดินหน้าไปตามแผนที่วางเอาไว้ ด้วยเหตุผล "ตีเหล็กตอนกำลังร้อน" เพื่อตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำท่วมของรัฐบาลทิ้งท้ายก่อนที่สถานการณ์จะเคลื่อนไปสู่โหมดของการ "ฟื้นฟู-เยียวยา"
พรรคประชาธิปัตย์วางตัวขุนพลที่จะลุกขึ้นเปิดข้อมูลถล่มรัฐบาลรวม 11 คน ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายกรณ์ จาติกวณิช นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก และนายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) จะเป็นผู้กล่าวปิดอภิปราย
ส่วนประเด็นที่จะอภิปรายซักฟอกกันมีอยู่ 3 ประเด็น คือ
1.ประเด็นการทุจริต โดยไม้เด็ดอยู่ที่การตอกย้ำหลักฐานการทุจริตการจัดซื้อถุงยังชีพ งบข้าวกล่อง และการจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เช่น เรือ สุขา เป็นต้น ซึ่งจะมีการเปิดหลักฐานมัดว่าใครคือผู้อนุมัติงบจัดซื้อตัวจริง ฉะนั้นตัวละครที่เกี่ยวข้องจะไม่ใช่แค่ พล.ต.อ.ประชา เท่านั้น แต่จะพาดพิงไปถึง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย
2.การกระทำผิดกฎหมาย เป็นประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่าเอาผิดได้ค่อนข้างแน่ เพราะหลักฐานชัด ก็คือการที่ พล.ต.อ.ประชา มีคำสั่งแต่งตั้ง ส.ส.ให้มีอำนาจดูแลจัดการเรื่องถุงยังชีพ ซึ่งน่าจะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 265 และ 266 ที่ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งประโยชน์ และห้าม ส.ส.เข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
ประเด็นนี้แม้แต่ พล.ต.อ.ประชา เอง ก็เคยยอมรับกลางวงประชุมคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ว่า เป็นเพราะความไม่รู้ และไม่ได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย แต่เมื่อได้รับคำปรึกษาจากฝ่ายกฎหมายแล้ว จึงได้มีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งนักการเมืองเข้าไป พร้อมย้ำว่าไม่มีเจตนา
แต่ในทางกฎหมายและในทางการเมืองถือว่างานนี้ "กระทำผิดสำเร็จแล้ว"
3.การบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ เป็นประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการเน้นย้ำ และแก้เกมนอกสภาที่พรรคเพื่อไทยพยายามโยนบาปการแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมขังของชุมชนเหนือแนวบิ๊กแบ็กซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดปริมณฑลทั้งนนทบุรีและปทุมธานี ว่าเป็นความผิดของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์
จะเห็นได้ว่าในระยะหลังๆ รัฐบาลโดย ศปภ.แทบไม่ได้จัดการปัญหาการระบายน้ำในชุมชนเหนือแนวบิ๊กแบ็กเลย ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมยืดเยื้อและประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงปิดถนนเป็นรายวัน เพราะไม่ทราบว่าน้ำที่บ้านและชุมชนของตนจะแห้งเมื่อใด แต่รัฐบาลก็ไม่ได้เร่งรัดแก้ไข กลับมุ่งใช้นักการเมืองท้องถิ่นและเครือข่ายหัวคะแนนปล่อยข่าวโยนบาปผู้ว่าฯกทม.ว่าเป็นผู้รับผิดชอบและไม่ยอมระบายน้ำผ่านพื้นที่ กทม. เสมือนเป็นการเปลี่ยนคู่ชกของคนนนทบุรีและปทุมธานีกับ ศปภ. มาเป็นผู้ว่าฯกทม.แทน
พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องการย้ำหัวตะปูว่า นี่คือการบิดเบือนและโยนความรับผิดชอบ เพราะ ศปภ.ถือเป็นองค์กร "รวมศูนย์อำนาจ" ในการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด โดยใช้อำนาจผ่านพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 31 ซึ่งนายกฯเป็นผู้ประกาศด้วยตัวเอง
นอกจาก 3 ประเด็นหลักๆ ดังกล่าวแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังเตรียมอภิปรายพาดพิงไปถึงการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ.... ซึ่งมีข่าวพยายามแก้ไขหรือตัดทอนหลักเกณฑ์บางประการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย โดยเฉพาะการแก้ถ้อยคำ "ผู้ต้องราชทัณฑ์" เป็น "ผู้ต้องคำพิพากษา" ซึ่งก็จะส่งผลให้คนที่ยังไม่เคยรับโทษหรือหนีโทษจำคุกก็มีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสนี้ด้วย
แม้ล่าสุดทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลจะส่งสัญญาณ "ไอ้เสือถอย" ไปเรียบร้อย ทว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่ปล่อยโอกาสทิ้งไป โดยจะฉวยจังหวะชุลมุนขย่มประเด็นนี้ แม้ดูเผินๆ จะไม่เกี่ยวกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา แต่ฝ่ายค้านก็จะอ้างเรื่องเส้นทางการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาฯก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ว่าเป็นเรื่องภายในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นกระทรวงที่ พล.ต.อ.ประชา รับผิดชอบนั่นเอง
งานนี้แม้จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา เพียงคนเดียว แต่ดูแล้ว รมว.ยุติธรรม จะไม่โดดเดี่ยว เพราะฝ่ายค้านคงหวังให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปถึงทั้ง นายกฯ รมว.มหาดไทย และ "นายใหญ่แห่งดูไบ" ด้วยอย่างแน่นอน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2554 00:40
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น