วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ภาคใต้อ่วม ฝนกระหน่ำ น้ำท่วมหลายพื้นที่แล้ว





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาเตือนว่า ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีลงไปจนถึงบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล จะมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง พร้อมกับขอให้ประชาชนยังต้องเฝ้าระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งนั้น

สถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พบว่า ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ได้รับผลกระทบ หลังจากเกิดฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ฝนที่ตกกระหน่ำติดต่อกัน ส่งผลให้น้ำจากเทือกเขาต่าง ๆ ไหลลงสู่พื้นที่ราบลุ่ม ในพื้นที่ของต.สุวารี อ.รือเสาะ และพื้นที่บางส่วนของอ.ระแงะ จนถนนสายหลักเส้นทางระหว่างหน้าพระตำหนักทักษิณเข้าตัวเมืองนราธิวาส มีระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ขณะที่ในพื้นที่หมู่บ้านโคกสะยา หมู่ 8 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส มีน้ำเข้าท่วมขังบ้านเรือนของประชาชน รวมแล้วกว่า 10 หลังคาเรือน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัด ยังคงไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ อ.กงหรา อ.ตะโหมด อ.ศรีนครินทร์ อ.ศรีบรรพต อ.ป่าบอน และ อ.ป่าพะยอม ระดับน้ำท่วมสูง 80 ซม. ถึง 1 เมตร ในถนนหลายสาย โดยเฉพาะ ถนนระหว่างหมู่บ้าน พื้นที่ ต.โหมด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด ต.ชะรัด อ.กงหรา ต.นาท่อม ต.พญาขันต์ ต.ปรางหมู่ ต.ชัยบุรี ต.โคกชะงาย ต.เขาเจียก ต.นาโหนด อ. เมือง และถนนสายเข้า อ.ศรีบรรพต มีน้ำท่วมสูงเป็นทางยาวรถไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ ต้องใช้เรือในการเดินทาง

ขณะที่ จังหวัดตรัง เกิดฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน ทำให้ระดับน้ำในคลองต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มในเขตอำเภอเมืองตรังอย่างรวดเร็ว ทำให้การสัญจรไปมาค่อนข้างลำบาก เส้นทางจราจรบางแห่งติดขัด อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังอำเภอที่เป็นจุดเสี่ยง 3 อำเภอ คือ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน ให้เฝ้าระวังดินโคลนถล่ม เรือประมงเล็ก ขอให้งดออกจากฝั่ง


ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ซัดเข้าชายฝั่งโดยเฉพาะถนนเลียบชายฝั่งจากพื้นที่ อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ และ อ.สายบุรี จนพังเสียหายเป็นช่วง ๆ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐได้ทิ้งหินและแท่งคอนกรีตเป็นแนวเพื่อกันคลื่นซัดถนน แต่ไม่สามารถป้องกันได้ ขณะที่เรือประมงท้องถิ่น หรือเรือกอและ ต้องรีบเข้าฝั่ง ทำการประมงไม่ได้ เนื่องจากคลื่นลมแรง เกรงว่าจะได้รับอันตราย

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดยะลา เริ่มมีน้ำท่วมขังในหมู่บ้าน สวนผลไม้ สวนยางพารา ตลอดจนถนนเข้าหมู่บ้านทุ่งยามู หมู่ 4 และ บ้านบ่อเจ็ดลูก หมู่ 6 ต.ยุโป อ.เมือง นอกจากนี้น้ำยังไหลท่วมถนนสายท่าสาป - คลองขุด ช่วง กม. 34 - 35 ระยะทางยาวประมาณ 300 เมตร 1 ช่องจราจร และ อีก 1 ช่อง จราจรถนนชำรุดเสียหายประมาณ 100 เมตร ซึ่งส่งผลทำให้รถยนต์ของชาวบ้านที่วิ่งมา ประสบอุบัติเหตุ ได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ ฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ยังทำให้น้ำเข้าท่วมเส้นทางสายยะลา - รามัน บริเวณบ้านบือแน หมู่ที่ 4 ต.บุดี อ.เมืองยะลา น้ำท่วมถนนบริเวณหน้าโรงเรียนพงจือนือแร หมู่ที่ 6 ต.บุดี ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ และโรงเรียนได้ประกาศปิด 1 วัน

สำหรับในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ต.อาซ่อง อ.รามัน น้ำได้เริ่มเข้าท่วมถนนทางเข้าบ้านกำปงบาโงย (บ้านย่อยบ้านสะโต) แล้ว และน้ำได้เข้าท่วมที่ขังบ้านนิบงบารู หมู่ 4 ต.สะเตงนอก และ ต.บันนังสาเร็ง สูงประมาณ 20 เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม ทาง จังหวัดยะลา ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ในบริเวณริมแม่น้ำสายบุรี ของพื้นที่ อ.รามัน ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนในพื้นที่ อ.กรงปินัง อ.บันนังสตา อ.ธารโต อ.เบตง อ.ยะหา และ อ.กาบัง เฝ้าระวัง น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มด้วย



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น