ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
การจัดการ ‘ของบริจาค’ ต้อง ‘มือถึง’ จึงจะ ‘ถึงมือ’
ปรากฏการณ์น้ำใจท่วมโถมของสังคม ภาพการลำเลียงถุงยังชีพส่งต่อ จากมือถึงมือส่งทอดต่อกันไป เดินทางจากในศูนย์รับบริจาค ลงเรือส่งถึงมือผู้ประสบภัย บอกเล่าถึงความเอื้ออารี บันทึกถึงความสามัคคีที่เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤต
เมื่อมนุษย์กลุ่มหนึ่งลำบาก มนุษย์อีกกลุ่มเข้าช่วยเหลือ เป็นความดีงามที่เกิดจากการอยู่ร่วมกัน
สิ่งของที่ได้รับบริจาคมากมาย คือสัญลักษณ์บอกถึงความใส่ใจที่มีต่อกันในสังคม
ไม่ว่าจะเป็นตัวเงินก็ดี หรือจะเป็นสิ่งของ เสื้อผ้า น้ำเปล่า ยารักษาโรค ล้วนแล้วแต่มีความรู้สึกที่ดีของผู้ให้ที่อยากช่วยเหลือผู้รับ
ทว่ากับวิกฤติน้ำท่วมรุนแรงครั้งนี้ กระแสน้ำท่วมที่โถมถา กระแสความเดือดร้อนยิ่งถาโถม แผ่กว้างไปทุกหย่อมย่าน ยิ่งยาวนานความเดือดร้อนที่ดูเหมือนทุเลาลง กลับยังคงอยู่ กระแสน้ำใจที่โถมท่วมมาไม่เว้นวันตามหน้าสื่อโทรศัพท์ ดูเหมือนยังไม่เพียงพอต่อทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น
กับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้บอกเราว่า ต้องอยู่กับสภาพแบบนี้ไปอีกนาน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง อย่างเป็นระบบ มากกว่าทำไปตามมีตามเกิด หรือตามวาระที่นานครั้งที่เกิดขึ้นเหมือนทุกที
‘ทุจริต?’ และของบริจาคที่จากไปกับน้ำ
ข่าวฉาวล่าสุด ที่เล่าลือและเผยแพร่ในโลกออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต และโซเชียล เน็ตเวิร์ก อย่าง
เว็บไซต์เฟซบุ๊กได้มีการแชร์ภาพถุงยังชีพที่ติดตราสัญลักษณ์ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเจ้าของภาพที่ใช้นามแฝงว่า ‘Tukta Perace’ ได้ระบุข้อความในภาพว่า ถุงยังชีพแบบ 800 บาท ศปภ. ซื้อไปหนึ่งแสนชุด เป็นเงิน 80 ล้านบาท เปิดดูข้างในถุงมีแค่นี้ ช่วยประเมินให้ทีว่าราคามัน 800 บาทจริงหรือ?
ซึ่งผู้เข้าชมภาพในเฟซบุ๊กดังกล่าวส่วนใหญ่ต่างแสดงความคิดเห็นว่า ราคาสินค้าของถุงยังชีพของ ศปภ.ชุดนี้ น่าจะอยู่ในระหว่าง 200-350 บาทเท่านั้น และตั้งข้อสังเกตว่า ศปภ.อาจมีการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่นำไปบรรจุลงในถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมหรือไม่
ก่อนหน้านี้ไม่นาน หลังจาก ศปภ. ที่ท่าอากาศยานดอกเมือง ต้องตัดสินใจย้ายศูนย์เมื่อน้ำท่วมเข้าพื้นที่ทั้งหมด กลับพบภาพน่าประหลาดใจ นั่นคือภาพของบริจาคมากมายที่ถูกเก็บทิ้งไว้ ตั้งแต่เรือหลากขนาดจากหลายที่มา สุขาเคลื่อนที่จากญี่ปุ่น น้ำเปล่าจำนวนมากมายหลายแพกกลายขนาด จนไปถึงเสื้อผ้าที่ได้รับบริจาค ทั้งที่มีการตั้งข้อสังเกตอย่างหนาหูในกระแสสังคมว่า สิ่งของบริจาคที่มาจาก ศปภ. มีความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการผ่าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย นับตั้งแต่ศูนย์ ศปภ.ปฏิบัติหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อน้ำท่วม ศปภ. ดอนเมือง ก็อพยพโดยปล่อยให้สิ่งของบริจาค เสื้อผ้าและสุขาลอยน้ำจมอยู่ใต้น้ำอีกด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานฟ้องผ่านทางภาพข่าวและสังคมออนไลน์
ไม่แปลกที่สังคมจะตั้งคำถาม เหตุใดจึงปล่อยให้เกิดปัญหาในเรื่องของบริจาคแบบนี้ขึ้นมาได้ เพราะมีประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมต้องเป็นอยู่อย่างทุกข์ร้อนใจลำบากในการกินอยู่ขับถ่ายอีกเป็นหลายล้านคน
เจาะปัญหา ‘ของบริจาค’ จากภาคสนาม
แม้โฆษก ศปภ. คนใหม่ล่าสุด ธงทอง จันทรางศุ จะออกมาแก้ต่างถึงของบริจาคที่โดนปล่อยทิ้งให้น้ำเอ่อท่วมจนเสียหายเป็นจำนวนมาก และถูกนำภาพมาเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่า เป็นของที่เหลือตกค้างจากการขนย้ายไม่ทัน โดยข้อแก้ตัวถึงเรื่องดังกล่าวนั้น รัฐบาลบอกว่า เป็นเรื่องของการสำรองเก็บเพื่อการเดือดร้อนที่อาจมีเข้ามามากมาย แต่สิ่งของบริจาคที่เสียหายอยู่ในท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ก็เป็นของบริจาคที่ยังขาดแคลนอยู่ในหลายๆ ที่ ทว่านั่นก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะของที่เสียหายและถูกปล่อยทิ้ง มีตั้งแต่เรือที่ถีบราคาจากลำว่าสามพันบาทขึ้นไปถึงหกพัน หรือน้ำเปล่าที่หายากยิ่งกว่าทอง
แน่นอน กระแสสังคมได้ตีแสกหน้า ศปภ. และรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ไม่โปร่งใส หรือไม่ก็ไม่มีความสามารถ เพราะของบริจาคมากมายได้รับเสียหาย แทนที่จะได้นำไปเยียวยาผู้ประสบภัยจากความเดือดร้อน
อย่างก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของสังคมนี้ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา รัฐบาลก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอยู่แล้ว จึงเป็นปกติที่การตั้งศูนย์รับบริจาคของภาคเอกชนจะมีผุดขึ้นมาอย่างมากมาย เพื่อช่วยให้ประชาชนทั่วไปอุ่นใจ หรือไม่ก็ช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการบริจาคของ ในการทำงานน่าไว้เนื้อเชื่อใจและดูมีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาล
โดยศูนย์เหล่านี้มีตั้งแต่ศูนย์ย้อยตามอำเภอ ตามพื้นที่ที่เดือดร้อน ไปจนถึงภาคประชาชนลงมาตั้งหน่วยงานเอง หรือจะเป็นมูลนิธิที่ทำงานด้านสังคมมาอยู่แล้ว กระทั้งสื่อมวลชนก็ออกมาช่วยเหลือตัวกลางในการตั้งศูนย์
ทั้งนี้ หน้าที่หลักของศูนย์เหล่านี้ หลักๆแล้วคือการรวบรวมความช่วยเหลือจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเงิน สิ่งของบริจาค หรือเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน แล้วนำส่งความช่วยเหลือนั้นสู่ผู้ประสบภัย
ทว่าด้วยการจัดการหลายอย่างที่ต้องยอมรับว่า แม้จะเต็มไปด้วยน้ำใจ ความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือ แต่หลายครั้งก็ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง
เหตุการณ์ข่าวหนึ่งที่สะท้อนปัญหาเหล่านั้น เมื่อบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ที่ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสังกัดของมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ได้ทำการลำเลียงของบริจาคไปส่งให้กับผู้ประสบภัยในย่านรามอินทรา แต่ถูกขัดขวางด้วยกลุ่มชาวบ้านอยู่อาศัยต้นซอย ไม่ให้เข้าไปแจกจ่ายความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านที่อยู่ข้างใน จนหัวหน้าชุมชนต้องนำทางเข้าไป
นั่นหมายความว่า ในซอกหลืบลึกของพื้นที่เดือดร้อน ความช่วยเหลือยังเดินทางไปไม่ถึง พร้อมทั้งยังคงมีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น
กับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้บอกเราว่า ต้องอยู่กับสภาพแบบนี้ไปอีกนาน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง อย่างเป็นระบบ มากกว่าทำไปตามมีตามเกิด หรือตามวาระที่นานครั้งที่เกิดขึ้นเหมือนทุกที
เมื่อน้ำท่วมเข้าเขตเมือง ระบบการช่วยเหลือของคนเมืองที่อยู่อาศัยกันอย่างแยกส่วน ยิ่งลักษณะชุมชนที่อยู่กันอย่างหนาแน่น การทำงานในส่วนของการแจกจ่ายสิ่งของยิ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก
สุพัฒนา วิญญูวรนาท ผู้ประสบภัยที่อพยพออกมาจากบ้านย่านบางบัวทองแล้ว แต่ยังคงกลับไปดูบ้านเป็นครั้งคราว มองเห็นถึงปัญหาในด้านของการแจกจ่ายสิ่งของว่า ยังไม่ทั่วถึง เพราะยังมีบ้านอีกหลายหลังในชุมชนที่อยู่ลึกไม่ได้รับของ ด้วยเพราะอยู่ลึกและน้ำท่วมสูงจนไม่สามารถเดินออกมารับเองได้ ประกอบกับไม่มีหน่วยงานเข้ามาสำรวจดูแล
“เหมือนหมู่บ้านที่เราอยู่มันตกสำรวจ วันแรกๆ ก็จะมีทหารเข้าไปแจกของช่วยเหลือที่หน้าซอยบ้าน แต่ต่อก็จะน้อยลง เป็นไปได้ว่าเขาจะคิดว่าคนในหมู่บ้านเราอพยพไปหมดแล้ว แต่จริงๆ คือยังมีคนอยู่ดูบ้าน ยิ่งลึกๆ ที่เขาลำบากไม่สามารถออกไปไหนได้ ก็ยังมีอยู่”
มาถึงตอนนี้ทำให้เธอต้องเดินไปรับของจากที่ศูนย์ย่อยที่แจกของช่วยเหลือกว่าครึ่งกิโลเมตร ซึ่งทำให้ต้องนั่งเรือ โดยยังมีปัญหารุมเร้าที่ราคาเรือจ่ายก็ขึ้นไปถึงหลักร้อยบาทต่อหัว
“ล่าสุดที่เราไปรับของ เตนท์ที่แจกจ่ายของก็เริ่มเหลือกลุ่มที่มาให้ความช่วยเหลือน้อยลงแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าต้องไปช่วยเหลือที่อื่น”
ในส่วนของระบบการแจกจ่ายสิ่งของนั้น เพื่อความรวดเร็วต่อการแก้ไขความเดือดร้อน ทำให้มีการแจกจ่ายในแบบที่พบใครก่อนก็ให้ของทันที ซึ่งเธอคิดว่าน่าจะมีการจัดระเบียบ หรือสำรวจความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดี เพราะอาจทำให้สิ่งของนั้นอาจแจกจ่ายไปไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอได้
“คือบางครอบครัวเขาอยู่กันเจ็ดแปดคน ให้ไปถุงเดียวบางทีก็ไม่พอ และบ้านที่อยู่ลึกๆ ที่เขาออกมาไม่ได้อีก คิดว่าควรจะมีการสำรวจจัดทำข้อมูลตรงนี้บ้าง อาจแบ่งการช่วยเหลือออกเป็นสองแบบ คือแบบที่เป็นศูนย์ย่อยตั้งในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่สูงมาก บ้านที่น้ำท่วมไม่สูงนัก สามารถเดินออกมารับของเองได้ ก็ออกมารับเอง ส่วนบ้านที่อยู่ลึกๆ ก็ให้ช่วยเหลือโดยการขนของเข้าไปให้”
ส่วนในเรื่องของการจัดเก็บสิ่งของบริจาคที่เป็นปัญหา เธอเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และควรแจกจ่ายสิ่งไปอย่างรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับแรก เพราะความเดือดร้อนนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน
“เราก็เข้าใจว่าต้องเก็บไว้สำรองเผื่อเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ควรมีการแจกจ่ายให้ทั่วอย่างเหมาะสม เพราะของที่เข้ามามากๆ มันพอคาดการณ์ได้ว่าของจะมีเข้ามาบริจาคเรื่อยๆ ดังนั้นก็ควรจะแจกจ่ายในอัตราที่เท่ากัน หรือมากกว่า เพราะการช่วยเหลือประสบภัยมันน่าจะเป็นเรื่องที่มาก่อน”
ขณะเดียวกันฝ่ายผู้ให้อย่าง นันทิดา ปัญญาบารมี เจ้าของธุรกิจส่วนตัว กล่าวถึงขั้นตอนการบริจาคของของเธอว่า
“เวลาไปบริจาคของนั้น ก็แค่เอาของที่เราเตรียมไปให้กับผู้ประสานงานที่ศูนย์นั้นเลย จากนั้นก็ลงชื่อว่าเอาของมาบริจาค แล้วก็ทิ้งของไว้เลย ไม่มีอะไรซับซ้อน ถ้าเป็นของกินก็ต้องเขียนวันที่ผลิตและวันหมดอายุบอกเอาไว้ด้วย”
กับการเลือกของบริจาคนั้น เธอเผยว่าจะเลือกของที่คิดว่าน่าจะไม่มีคนบริจาค อาทิ น้ำ ปลากระป๋อง อาหารแห้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังขาดแคลนอยู่
“เสื้อผ้าน่าจะมีแต่คนเอามาให้แล้ว แต่ของที่ดูแปลกๆ แต่จำเป็นอย่างพวกผ้าอนามัย เสื้อในกางเกงในนี่ไม่ค่อยเห็นมีคนเอาไปเท่าไหร่ เราเลยเลือกบริจาคของเหล่านี้ อีกอย่างที่เราบริจาคไปที่ศูนย์อพยพก็จะเป็นพวกขนม เพราะเราเป็นคนที่ทำขนมอยู่แล้ว”
แต่ทั้งนี้ นันทิดายังกล่าวต่อไปอีกว่า โดยปกติแล้วจะนิยมบริจาคเป็นเงินมากกว่าเพราะ ทางคนจัดการน่าจะนำเงินเหล่านั้นไปหาของที่ตรงกับความต้องการได้มากกว่าและราคาถูกกว่า เพราะเป็นการซื้อของแบบซื้อส่ง แต่ว่าวิธีนี้จะต้องบริจาคให้กับหน่วยงานที่เชื่อถือได้เท่านั้น
“เรื่องความน่าเชื่อถือของศูนย์นั้น ก็ต้องคำนึงถึงเหมือนกัน แต่ตอนนี้ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ เพราะเดี๋ยวนี้มีภาคประชาชนลุกขึ้นมาให้ความช่วยเหลือหลายที่และก็เป็นองค์กรอิสระที่โปร่งใสเกือบทั้งนั้น แต่จะให้ดีก็น่าจะมีองค์กรกลางสักแห่งที่คอยประสานงาน กันเรื่องของบริจาคที่ซ้ำซ้อนกัน เพราะตอนนี้ที่ที่ได้ของก็ได้เยอะอยู่ตลอด แต่ที่ที่ไม่มีใครไปบริจาคก็ไม่มีเลย”
ทางด้านของ กนกวรรณ เนติกุล อาสาสมัครและเลขาธิการมูลนิธิ 1500 ไมล์ หนึ่งในศูนย์รับบริจาค ฉายภาพในกรณีของการจัดการเรื่องสิ่งของบริจาคว่า เป็นที่แน่นอนว่าทุกอย่างยังไม่ได้อยู่ในมาตรฐานหรือมีกระบวนการเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก เพราะประเทศไทยไม่ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก่อน นั่นก็เพราะว่า ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเจอภัยพิบัติที่ร้านแรงเหมือนเหตุการณ์นี้
“เพราะพื้นฐานของเราไม่เคยเซทหรือเรียนรู้ว่าภายในถุงยังชีพแต่ละถุงควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง จริงๆ อาจจะมี แต่ก็ไม่ได้แพร่หลาย เพราะเราไม่ได้มีบทเรียนจากสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรืออะไรก็ตามแต่ ส่วนใหญ่เราจัดเตรียมจากประสบการณ์ หรือจากสิ่งที่เรามีและส่วนหนึ่งจะเป็นฝ่ายรับบริจาคและนำมาแพคเป็นถุงยังชีพ รวบรวมเพื่อมาส่งที่ศูนย์อีกที่”
ในส่วนของการลงพื้นที่นั้น หลายครั้งจำเป็นต้องเน้นที่การส่งองถึงมือ ปัญหาคือไม่สามารถแน่ใจได้ว่าของเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับ
“หลายครั้งที่เราลงพื้นที่ อย่าว่าแต่เรื่องที่จะไปบริจาคในภัยพิบัติทางธรรมชาติเลย การนำเอาของไปบริจาคตามโรงเรียนต่างจังหวัด หรือไปช่วยเหลือคน เราพูดอย่างไม่ตำหนินะ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเห็นได้ว่า คนที่เอาของมาบริจาคจะเอาเสื้อผ้าเก่าที่ใช้แล้ว ซึ่งบางคนมีเท่านั้นจริงๆ ต้องยอมรับว่าผู้รับที่เขารับไปแล้ว เขาจะเอาไปทำอะไร เขาจะได้ใช้ประโยชน์หรือไม่มากน้อยแค่ไหน บางคนก็ไม่รู้ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องมานั่งคัดแยกคัดกรองอีกที ให้ของที่ส่งไปได้ใช้ประโยชน์ที่สุด”
อีกปัญหาสำคัญในการแยกแยะ หรือบรรจุของยังชีพในกรณีน้ำท่วมครั้งนี้ เท่าที่มูลนิธินี้ประสบอยู่นั่นก็คือการบรรจุผลิตภัณฑ์ ที่กว่าจะถึงมือผู้ประสบภัยก็จะเกิดถุงรั่ว ก่อนถึงมือผู้รับ รวมทั้งการบริจาคสิ่งของ ผู้บริจาคไม่ได้คำนึงถึงว่าบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้นๆ เป็นสิ่งที่แตกหักได้
“เรื่องของถุงพลาสติกที่บรรจุของก็ยังมีหลายเกรด เราต้องนึกถึงตรงนี้ด้วย ส่วนของที่อยู่ข้างใน คนส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงว่า ระหว่างขนส่งไปแจกมันต้องผ่านอะไรบ้างกว่าผู้ประสพภัยจะได้ใช้ น้ำปลา หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นขวดแก้ว เมื่อหล่นพื้นมันก็ต้องแตกเสียหาย หรืออาหารกระป๋องที่ไม่ได้ดูวันหมดอายุ ก็เป็นปัญหาเช่นกัน”
ส่วนกรณีที่มีการพูดกันเรื่องถุงยังชีพที่แจกไปอาจมีสิ่งของที่ไม่เหมาะสมไปให้คนที่ไม่ต้องการ เช่น ถุงยังชีพให้ผู้ชายแต่มีผ้าอนามัย เรื่องนี้กนกวรรณบอกว่า เนื่องจากตอนนี้งานอาสาสมัครถือว่าหนักมากๆ เพราะความเสียหายกระจายวงกว้าง อาสาสมัครเท่าที่มีไม่สามรถแยกได้ละเอียดมากขนาดนั้น แต่กับบางเรื่องเช่น นมผงเด็ก หรือผ้าอ้อมตรงนี้ก็พยายามแยกถุงไว้ต่างหากตอนนำไปบริจาคจะได้เจาะจงถูกกลุ่ม
“แต่หากนึกถึงของบริจาค ที่ชาวบ้าน หรือหน่วยงานเอกชนบรรจุมาให้อยู่แล้ว เป็นเรื่องทีไม่ควรตำหนิซึ่งกันและกัน ลองมองให้เป็นเรื่องเผื่อเหลือเผื่อขาด เช่น ผ้าอนามัย ฉุกเฉินเข้าจริงๆ มันสามารถใช้เป็นผ้าก๊อสซับแผลได้ ซึ่งสะอาดกว่าสำลีหรือผ้าก๊อสที่ไม่ได้พลาสเจอร์ไรซ์เสียอีก มันสามารถดัดแปลงใช้ได้ เพราะเราต้องคิดว่า เราต้องทำอย่างไรในการดำรงชีพในแต่ละวัน”
การบริหารจัดการสิ่งของบริจาคอย่างถูกหลักการ
เห็นได้ชัดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของที่บริจาคเข้ามา เห็นจะเป็นการทำให้ของบริจาคส่งตรงถึงผู้ประสบภัยได้โดยไม่เสียหายไปก่อน จากความปรารถนาดีในทุกภาคส่วนของสังคมมากมาย แม้เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจของสังคมไทย
ทว่าสำหรับนายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์ และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทยเห็นว่า ยังคงมีปัญหาอยู่ในหลายจุดที่ควรปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การทำงานตรงนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“ในตอนนี้ สังคมไทยมีรูปแบบของการรับบริจาค หรือการส่งของบริจาคที่หลากหลายมาก มีตั้งแต่การรวมของโดยภาคส่วนของรัฐบาล ประชาชนเอง สื่อมวลชน รวมไปถึงในชุมชนเล็ก อาจมีการรวมไปส่งยังศูนย์เยียวยาต่างๆ เพื่อกระจายของ แต่บางครั้งก็มีถึงขั้นลงพื้นที่เอง ลงไปให้ถึงตัวแทนชุมชน หรือบางครั้งก็ลงไปให้ถึงมือชาวบ้านผู้ประสบภัย เหมือนเพื่อให้สบายใจว่าของถึงมือผู้ประสบภัยอย่างแน่นอน
“แต่ความหลากหลายที่มีขึ้นอย่างมากล้นเช่นนี้ หลายครั้งก็ทำให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานซ้ำซ้อน การลงพื้นที่มากเกินไปจนทำให้การทำงานด้านอื่นเป็นไปอย่างยากลำบาก จนกระทั่งแทนที่จะเข้าไปช่วยกลับเข้าไปก่อปัญหาเสียเอง”
โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ การนั่งรถเข้าไปแจกจ่ายสิ่งของเองแล้วเกิดรถเสียด้วยเพราะไม่รู้ระดับน้ำ และไม่รู้เส้นทาง ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการแจกจ่าย ซึ่งจะลุกลามไปเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชน
แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการด้านการแจกจ่ายของบริจาคในภาวะภัยพิบัติเช่นนี้ ในระดับสากลนั้นไม่ได้มีมาตรฐานกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวในการทำงาน หากแต่ว่าหลายกรณีที่ผ่านมาก็สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้
“ในบางประเทศเขาไม่ส่งเสริมให้คนลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ เพราะอาจเป็นภาระต่อการช่วยเหลือปฏิบัติงาน ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่นที่ประสบภัยสึนามิที่ผ่านมานั้น จะมีองค์กรกลางขึ้นมา โดยมีกฎหมายมีกฎระเบียบราชการระบุชัดเจนว่า มีส่วนในการรับบริจาคอย่างไร โดยองค์กรนี้จะจัดตั้งในลักษณะของคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน ภาครัฐบาล ภาคเอกชน โดยรับของบริจาคจากหลายทิศทางแล้วมากองรวมกัน แล้วบริหารจัดการแจกจ่ายแบบบูรณาการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
อีกกรณีหนึ่งที่เขายกตัวอย่าง คือกรณีพายุนาร์กีส ในประเทศพม่า ซึ่งขาดแคลนสิ่งของหลายอย่าง และมีมาตรฐานการจัดการที่สุดขั้วไปอีกทางหนึ่งแบบรัฐทหาร นั่นคือการมีข้อบังคับทุกอย่าง การช่วยเหลือ การลงพื้นที่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตทั้งหมด แม้จะเป็นวิธีที่ทำให้การลงพื้นที่มีประสิทธิภาพ ไม่สะเปะสะปะในด้านการทำงาน แต่ก็ทำให้ความช่วยเหลือลงไปถึงผู้ประสบภัยล่าช้า
ในภาวะพิบัติภัยแบบนี้ การบริหารจัดการในกรณีของต่างประเทศก็จำเป็นต้องมีการนำมาปรับใช้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา
“ผมว่าต้องมีองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อชี้เป้า และวางแผนจัดการทุกอย่าง”
ทุกอย่างในความหมายที่รวมเอา การแจกจ่าย การชี้เป้าหมายพื้นที่ประสบภัย ข้อมูลการลงพื้นที่การควรใช้พาหนะชนิดใดในการเข้าถึงพื้นที่ จนถึงการจัดเก็บของบริจาคอย่างมีประสิทธิภาพ
“การจัดเก็บของบริจาคมันก็เหมือนการจัดเก็บสินค้าทั่วไป ต้องมีการแบ่งหมวดหมู่ จัดระเบียบ มีค่าบริหารจัดการ ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา”
ในส่วนของสิ่งของที่บริจาคนั้น แน่นอนว่าหากบริจาคมาเป็นของเป็นชิ้น เป็นที่นิยมมากกว่าในสังคมไทย ด้วยค่านิยมที่ต้องเลือกของที่ดีให้ อยากให้แบบนี้ บางครั้งถึงขั้นลงไปให้ด้วยตัวเอง แต่ทว่าการจัดการหลายอย่างก็ทำให้สิ่งของเหล่านี้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ยากลำบาก
“บางทีการบริจาคมาเป็นจำนวนเงินก็จะสะดวกกว่าในการจัดหาของที่ตรงกับความต้องการในสถานการณ์นั้นๆ แต่ว่าหากสถานการณ์อย่างตอนนี้เราต้องการน้ำเปล่า แล้วมีผู้บริจาคสามารถหาน้ำเปล่ามาได้เลย ขนส่งมาให้เลย อันนี้ก็จะสะดวกกว่า แต่มันจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์”
มาถึงตอนนี้ทางออกของนายแพทย์พิชิต คือการพบกันครึ่งทางของวิธีการแบบที่เป็นอยู่ กับแบบการจัดตั้งองค์กรกลาง นั่นคือมีองค์กรกลางขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่จัดการด้านข้อมูล
“คือมันไม่ได้รวมศูนย์ถึงขั้นห้ามคนอื่นเข้าไป แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเข้าไปอย่างไม่มีจุดหมาย ต้องมีศูนย์กลางที่ชี้เป้าในแต่ละวันว่าตรงไหนขาดแคลนอะไร ตรงไหนเข้าไปได้โดยปลอดภัยบ้าง โดยความต้องการของแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน”
ทว่าอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นข้อครหา นั่นคือเรื่องของความโปร่งใสของการแจกจ่าย ซึ่งเขาให้ความเห็นว่า อาจจำเป็นต้องมีหลักฐาน หรือการยืนยันตามสมควร
“มาถึงภาวะแบบนี้แล้วรัฐบาลต้องจริงจังกับเรื่องนี้ จะมารังเกียจเอกชนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจริงๆ ต้องร่วมมือกันตั้งแต่วันแรก ชั่วโมงแรกที่เกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว”
……….
ต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องของระบบ กระบวนการ ขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน รวมไปถึงความโปร่งใส ทั้งยังอยู่ท่ามกลางภาวะไม่ปกติอีกด้วย ทว่ากับเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างยาวนาน และเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ดังนั้นการจัดการกระบวนการทั้งหมด เห็นทีจะต้องเกิดขึ้นเพื่อเยียวยาปัญหา และทำให้เกิดความสามัคคีร่วมใจกันของสังคมอย่างแท้จริง
>>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 7 พฤศจิกายน 2554 07:55 น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น