วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รวมข่าวน้ำท่วม

น้ำท่วมถนนลาดพร้าว เพิ่มขึ้น 40 - 80 ซม.






น้ำถนนลาดพร้าว เพิ่มขึ้น 40 - 80 ซม. (ไอเอ็นเอ็น)

สถานการณ์น้ำ ถ.ลาดพร้าว หัวน้ำขาเข้าอยู่ที่ ซ.43 และ ขาออก ซ.46 รถเล็กผ่านไม่ได้ ระดับน้ำสูง 40 - 80 เซนติเมตร ด้าน สน.โชคชัย แนะใช้ทางลัด ซ.48 ออกรัชดาภิเษก

สถานการณ์น้ำล่าสุดวันนี้ (7 พ.ย.) บริเวณ ถ.ลาดพร้าว ฝั่งขาออก หัวน้ำยังคงอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 43 และฝั่งขาเข้าน้ำอยู่บริเวณซอยลาดพร้าว 46 ซึ่งมีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ตลอดเส้นทาง ระดับน้ำอยู่ที่ 40 - 80 เซนติเมตร โดยเฉพาะแยกภาวนา ระหว่าง ซอย 37 - 41 ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนแยกโชคชัย 4 ถนนยังแห้งปกติ

สำหรับการจราจรเช้านี้เป็นไปอย่างยากลำบาก มีเพียงรถประจำทาง ขสมก. รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ ที่ต่อท่อไอเสียสูงกว่าปกติ สัญจรในเส้นทางนี้เท่านั้น รถเล็กไม่สามารถสัญจรในเส้นทางนี้ได้แล้ว เนื่องจากระดับน้ำสูงขึ้น ทาง สน.โชคชัย แนะนำให้เลี่ยงเส้นทาง ถ.ลาดพร้าว ขาเข้า โดยรถที่จะลัดไป ถ.รัชดาภิเษก ให้ใช้เส้นทางลาดพร้าว 48 แทน




นครชัยศรี เตือนอย่าเล่นน้ำจระเข้หลุด 4 ตัว









นครชัยศรี เตือนอย่าเล่นน้ำจระเข้หลุด 4 ตัว (ไอเอ็นเอ็น)


อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เตือนชาวบ้านอย่างลงเล่นน้ำเด็ดขาด หลังจระเข้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์หลุดออกจากฟาร์ม 4 ตัว

หน่วยกู้ภัย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม รายงานว่า มีจระเข้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์จำนวน 4 ตัว หลุดออกจากฟาร์มที่วัดสำโรง อ.นครชัยศรี โดยไม่ทราบว่ามาจากฟาร์มไหน โดยแต่ละตัวมีขนาดยาวไม่ต่ำกว่า 4 เมตร ซึ่งทางหน่วยกู้ภัยกำลังเร่งไล่ล่าด้วยความยากลำบาก เนื่องจากน้ำได้เข้าท่วมทุกพื้นที่และมีปริมาณสูง ทั้งนี้ ไม่ทราบว่าจะมีจระเข้หลุดออกมาอีกหรือไม่จึงเตือนให้ประชาชนที่อยู่ละแวกนั้นอย่าลงเล่นน้ำเด็ดขาด




น้ำท่วม โชคชัย 4 ยังอ่วม! น้ำสูง 80 ซม.








ท่วม โชคชัย 4 ยังอ่วม! น้ำสูง 80 ซม. (ไอเอ็นเอ็น)

โชคชัย 4 ม.เสนานิเวศน์ 1 ยังอ่วม หลายจุดน้ำยังท่วม และยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น

เมื่อเวลา 00.15 น. พ.ต.อ.พรชัย ขจรกลิ่น ผกก.สน.โชคชัย เปิดเผยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า หลายจุด น้ำขัง ขณะนี้ภายใน ม.เสนานิเวศน์ 1 น้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สูง 80 เซนติเมตร แยกวังหิน ตลอดจนห้างสรรพสินค้า โลตัส-วังหิน บริเวณลาดปลาเค้า น้ำสูง 70 เซนติเมตร ทางด้านบริเวณชุมชนริมคลองลาดพร้าว วัดลาดพร้าว ยังคงมีน้ำท่วมสูงเช่นกัน จุดวิกฤติที่สุด คือ น้ำขึ้นจากท่อ บริเวณซอย 37 - 45 รวมระยะทาง 300 เมตร ท้ายซอยโชคชัย 4 น้ำออกมาจากท่อระบายน้ำ เพราะถนนต่ำกว่าคลอง ชาวบ้านเสนานิเวศน์ 1 กว่า 7,700 ราย ได้เร่งอพยพออกกันบ้างแล้ว แต่บางส่วนก็ยังพยายามสู้ โดยการเอากระสอบทราบมาวางทำคันกั้นน้ำมากั้น ทั้งนี้ สน.โชคชัย ก็มีรถบริการและกระจายกำลังเข้าไปช่วยเหลือประชาชน และ ใช้เรือ จำนวน 2 ลำ ออกตรวจตราความสงบเรียบร้อยด้วย




ชาวบ้านบุกปิดถนนร่มเกล้า ร้องเปิดปตร.บึงขวางเป็น 2 เมตร









ชาวบ้านกว่า300บุกปิดถนนร่มเกล้า (ไอเอ็นเอ็น)




ชาวบ้านกว่า 300 คน บุกปิดถนนร่มเกล้า เรียกร้องเจ้าหน้าที่เปิดปตร.บึงขวางเพิ่มเป็น 2 เมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดการจราจรถนนร่มเกล้าทั้งสาย




ชาวบ้านชุมชนบึงขวางกว่า 300 คน บุกปิดถนนร่มเกล้า เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูระบายน้ำบึงขวางเพิ่มเป็น 2 เมตร เนื่องจากขณะนี้ประตูระบายน้ำเปิดอยู่ที่ 1 เมตร โดย พ.ต.ท.ถนัด นักธรรม รองผู้กำกับการจราจร สน.มีนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านได้ร่วมกลุ่มกันปิดถนนร่มเกล้าทั้งขาเข้าและขาออกตรงบริเวณซอย 3 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูระบายน้ำเพิ่มเป็น 2 เมตรตามข้อเรียกร้อง โดยบริเวณดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการปิดถนนร่มเกล้ทั้งสองฝั่ง ทั้งที่มุ่งหน้ามีนบุรีและเคหะร่มเกล้า ซึ่งขณะนี้ฝั่งที่มุ่งหน้าเคหะร่มเกล้ารถติดท้ายแถวยาวประมาณ 500 เมตร




โดยเจ้าหน้าที่แนะให้ประชาชนที่จะสัญจรผ่านบริเวณดังกล่าว ให้ใช้เส้นทางใกล้เคียงแทน เนื่องจากขณะนี้บริเวณถนนร่มเกล้าทั้งสายไม่สามารถสัญจรได้





วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วม 6 พ.ย. โดย อ.ศศิน







เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ศศิน เฉลิมลาภ

ยังคงฮอตฮิตสำหรับการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำท่วมของ อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หลังได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีต่าง ๆ ล่าสุด อาจารย์ศศิน ได้ประเมินสถานการณ์น้ำท่วม เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ผ่าน เฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp เนื้อหามีดังนี้…

เตรียมภาพวิเคราะห์วันนี้ (6 พฤศจิกายน) เสร็จแล้วครับ วันนี้วันอาทิตย์ ผมกำลังจะโพสต์ข้อวิเคราะห์ ยาว ๆ สำหรับวันนี้ และบ่ายแก่ ๆ คงจะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพ ทางราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร อีกครั้ง ขอฟังเพลงนี้ นิ่ง ๆ เพื่อทบทวนสิ่งที่สั่งสมมาในชีวิตและสิ่งที่ผ่านพบประสบเจอ ขอฟังบทกวี เติมสีฟ้าอีกนิด...นะทะเล...ในช่วง โซโลขลุ่ย... นิ่ง ๆ ๆ ๆ แล้วเรามาร่วมเร่งทำงานในหน้างานของตัวเอง เป็นกำลังใจให้ทหารกล้า อาสาสมัครผู้เข้มแข็ง นักวิชาการผู้กำลังคิดหาทางโดยเฉพาะท่าน อ.เสรี ที่ทุ่มเทมาตลอด สื่อมวลชนทุก ท่าน และผู้ประสบภัย และผู้กำลังจะประสบภัยทุกท่าน



สถานการณ์น้ำท่วมในกทม. เป็นธรรมชาติดีครับ คือ เป็นน้ำเอ่อจากถนนและคลอง รวมทั้งท่อ หมายความว่าน้ำจะค่อย ๆ ขึ้นมา ไม่มีกำแพงป้องกันชุมชนที่จะพังโครมเดียวแล้วน้ำทลายมาถล่มบ้าน เหมือนบ้านผมที่อยุธยา น้ำเดินทางมาช้า ๆ ประมาณ 2-3 กม./วัน นั่นคือถ้าเรารู้ว่าน้ำถึงไหน ดูจากไลน์น่าจะประมาณการน้ำที่มาถึงบ้านเราได้ โดยเช็คจากเวบ gamling.org วันนี้น้ำถึงลาดพร้าว 80 กว่า ๆ แล้ว แต่ยังไม่สูง เราต้องรู้ก่อนว่าน้ำไม่สูงถึงไหน แล้วประมาณการมาถึงบ้านเรา ถ้ามาถึงตื้น ๆ ที่บ้านเราแล้วก็จะขึ้นสูงค่อนข้างเร็วในทางลึกขึ้น นะครับ ครึ่งวันอาจจะตาตุ่มมาเข่าได้ แล้วแต่พื้นที่ครับ กระทุ่มแบนล่าง ๆ ไล่มาถึงบางขุนเทียน ดาวคะนอง บางมด บน ๆ พญาไท ดินแดง ห้วยขวาง วังทองหลาง บางกะปิ บึงกุ่ม สะพานสูง บางชัน มีนบุรี ... พื้นที่ที่ยังไม่ถึงน่าจะค่อย ๆ เอ่อ ในเวลาวันสองสามวันนี้



ภาพรวม กทม.แบ่งเป็นสี่วง วงแรก คือ น้ำท่วมฝั่งตะวันตก น้ำกำลังจะข้ามคลองภาษีเจริญ โดยเฉพาะบางแค เข้าต่อจอมทองและบางบอน ถ้าเขาระบายได้มากลงท่าจีนก็จะช่วยได้มาก แต่อย่าลืมว่าทั้งหมดคือการเพิ่มน้ำให้ท่าจีน ทำให้นครชัยศรี สามพราน และกระทุ่มแบน ที่ท่าจีนเต็มที่แล้วไปต่อยาก และขยายเขตน้ำท่วมสองฝั่งน้ำท่าจีนไปถึงสมุทรสาคร ได้ตลอด วงที่สอง คือ สองฝั่งเจ้าพระยา ตอนนี้แนวกั้นน้ำยังเอาอยู่ แต่สาย ๆ ค่ำ น้ำจะขึ้นจากน้ำหนุน วงกรุงเทพชั้นใน มาถึงลาดพร้าว จตุจักร คันนายาว ขยายวงสู่ บางซื่อ พญาไท บางกะปิ บึงกุ่ม อย่าถามเลยว่าน้ำลึกแค่ไหน เพราะมันมาเรื่อย ๆ แข่งกับการระบาย และการใช้ถุงทรายกั้นด้านบน มันมาได้สูงเท่าอก หรือท่วมหัวในที่บ้านต่ำ ๆ และท่วมถนนจนรถวิ่งไม่ได้ ก็แล้วกัน ถ้ามันยังมากกว่าการระบายมาก ๆ

จากภาพที่แล้วอีกวงคือ นอกคันถนนหทัยราษฎร์-ร่มเกล้า ค่อย ๆ ขึ้นอย่างช้า ๆ เต็มหนองจอก คลองสามวา ถึงมีนบุรีแล้ว กำลังเริ่มที่ลาดกระบัง ผมไม่รู้จริง ๆ ว่า คลองต่าง ๆ ที่ด้านใต้ และถนนมอเตอร์เวย์ เขาเตรียมทำอะไรกับช่วงลอดหรือยัง ปัจจัยความสูงของน้ำยังขึ้นกับถนนต่าง ๆ อีกด้วย เช่น สุวินทวงศ์ และการระบายจากคลองแสนแสบ และประเวศบุรีรมย์ ไปออกนอก กทม.




ขยายภาพสู่กรุงเทพชั้นใน มีสองวง วงบน คือดอนเมือง ลงมาลาดพร้าว บึงกุ่ม คันนายาว ในวงแดง "ไม่รอด" นานแล้ว จะลดหรือไม่ขึ้นกับความสามารถในการระบายลงท่อ อุโมงค์ยักษ์ (ที่ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่) พื้นที่ไม่ท่วมช่วงนี้คือ ปากเกร็ด แคราย ดุสิต เพราะความสามารถในการป้องกัน ระบาย และพื้นที่สูง นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่เข้ามาได้เฉพาะ โลคอลโรด เปรมประชากร และวิภาวดี มีไม่พอที่จะข้ามแนวกั้นของคลองประปา วงล่างสีดำ คือเขตที่ตอนบนต้องได้รับน้ำบ้าง และตอนล่าง ๆ ยังน่าจะยังป้องกันไว้ได้ ตั้งแต่แนวใต้คลองสามเสน ต่อแสนแสบลงมา คือ พระนคร ราชเทวี ป้อมปราบ ปทุมวัน วัฒนา สวนหลวง แต่สำหรับ บางกะปิ สะพานสูง เนื่องจากต่ำมาก ดังนั้น น้ำจะมาตามท่อ เพื่อให้ระดับเท่ากับฝั่งเหนือ ไม่น่ารอดนะครับถ้าระบายและสูบออกไม่ได้ ใต้จากนั้นมาว่ากันอีกที ส่วนด้านนอกก็ต้องดูการระบายน้ำทั้งด้านแนวนอน และแนวตั้งตามลูกศรสีส้ม

บางพลี บางบ่อรอน้ำอีกนาน แต่เข้าใจว่าคลองเยอะ น้ำมาไม่มาก มาช้า น่าจะไม่มีปัญหามากนัก ยกเว้นคนที่ทำนากุ้ง นาปลา ไง ๆ ก็ต้องเตรียมระวังให้ดี อาจจะล้นหรือรับน้ำเสีย




ฝั่งตะวันตก มีห้าวง วงสมุทรสาครฝั่งคลองดำเนินสะดวก ควรระวังน้ำเหนือที่วกลงมาจากนครปฐม น่าจะกระทบกับคนทำนาปลา นากุ้ง แต่พอมาเจอระบบคลองแพรกลำประโดงที่บางยางลงมา น่าจะไม่เท่าไหร่ แต่คุณภาพน้ำและน้ำที่สูงขึ้นไง ๆก็อาจจะกระทบกับสวน และแปลงกล้วยไม้ ตั้งแต่สามพราน คลองจินดา แน่นอน ส่วนล่างลงมา ก็ต้องหาทางลดความเสียหายและระบายน้ำไม่ให้ล้นร่องคลองซอยต่าง ๆ แต่ใกล้ท่าจีนไง ๆ ก็มีเอ่อ ในอาทิตย์นี้จนท่วมออกมาตามที่ต่ำแน่ เมืองนครปฐม น่าจะ ไม่มาก ยกเว้นคลองเจดีย์บูชา รวมถึงคลองอื่น ๆ ที่เชื่อมท่าจีน วงสีแดง ๆ ใต้เมืองนครปฐม ต้องระวังน้ำลงบ่อปลาครับ

จากรูปที่ผ่านมา วงสีขาวฝั่งกระทุ่มแบนตะวันออก และมหาชัย เป็นพื้นที่รับน้ำแน่ ๆ ถ้า ข้ามภาษีเจริญ ผมยังคิดว่าน้ำจะมาถึงในอาทิตย์นี้ น้ำที่ว่าหากมีหน้าตัดมวลน้ำ สิบกิโลเมตร ในอัตราเร็ว 2.5 กม./วัน ก็จะมีน้ำมาถึงหน้าถนนพระรามสองเพียง 20-30 ล้าน ลบ.ม./วัน ถ้าหาทาง "รอด+ข้าม" พระรามสองได้ เราอาจจะมีถนนลงใต้ และหากหาทางระบายลงคลองแนวตั้ง และพื้นที่แก้มลิงสองฝั่งคลองมหาชัย ที่ว่า ๆ กันได้ในปริมาณใกล้เคียงนี้ เมืองสมุทรสาคร จะไม่ท่วม แต่ต้องลุยกันไปสองเดือนนะครับ วงสีดำเป็นวงกรุงเทพชายทะเล น้ำกำลังหาทางล้นคลองภาษีเจริญ จอมทอง ฝั่งตะวันตกขอบ ๆ ของราษฎร์บูรณะ และบางขุนเทียนด้านเหนือ มาจรดพระรามสอง ช่วยกันระบายลงท่อ เพื่อรักษาพระรามสองกันครับ พอลงชายทะเล ก็ต้องระวังนากุ้ง บ่อปลาอาครับ ส่วนวงเหลืองถัดมาผมว่ามีลุ้น "รอด" แต่อาจจะมีน้ำขึ้นจากเจ้าพระยาช่วงน้ำขึ้นครับ



ในภาพรวมของน้ำท่วมภาคกลางวันนี้ เราเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นดังที่ว่ามา ยกเว้น "มีเหตุคันหลักหก คันลำลูกกา และแนวกั้นเจ้าพระยามีปัญหา" พื้นที่ที่ผมไม่กล้าวิเคราะห์มากคือ ฝั่งธนชั้นใน ไม่รู้ว่าน้ำจะมาจากทางฝั่งตลิ่งชันและบางพลัดถึงบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ฝั่งธน คลองสาน ต้องระวังไว้ครับ แนวน้ำน่าจะมาทางลูกศรสีส้มที่วงไว้ ส่วนจะข้ามท่าจีน ไปแม่กลองหรือไม่ ขึ้นกับว่ากรมชลเขาจะผันต่อจากท่าจีนไปหรือเปล่า ช่วงนี้เอาแค่นี้ก่อนนะครับ ส่วนรวมการวิเคราะห์สักครู่ ค่อยว่ากัน ช่วยกันผลักให้ภาครัฐเร่งดำเนินการผันลงทะเล ตามแนวคิดที่ภาคประชาชนว่า ๆ กันครับ พอเห็นวันนี้แล้วเสียดาย แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา จังครับ ถ้าเราใช้ถนนใหญ่เส้นนี้ทำอะไรสักอย่างเราน่าจะคุมน้ำได้ดีกว่านี้ วันนี้เลยต้องมาใช้ถนนลาดพร้าวกั้นทั้ง ๆ ที่ตำกว่า ใต้กว่าตั้งเยอะ แค่นี้ครับ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น