วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เสียสละ และสามัคคี อาวุธลับของชาวปากเกร็ด-นนท์ ต่อสู้น้ำท่วม

ชาวนนท์ร่วมแรง ร่วมใจ กรอกกระสอบทรายที่ วัดหงษ์
ร่วมใจกันคนละไม้คนละมือ ได้กระสอบทรายเป็นร้อย เป็นพันกระสอบ
ภาพชาวบ้าน พระสงฆ์ และเณร ร่วมมือกันสร้างคันกันน้ำ ณ วัดบางพัง จ. นนทบุรี

คันกันน้ำ ณ วัดบางพัง จ. นนทบุรี

คันกันน้ำ ณ วัดบางพัง จ. นนทบุรี




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ noisonic , เฟซบุ๊ก เทศบาลนครปากเกร็ด

สถานการณ์น้ำท่วมที่ยังคงความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้ในหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี ยาวมาถึง จ.นนทบุรี ต้องจมอยู่ใต้บาดาลนานนับเดือน รวมไปถึง กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของเรา ที่น้ำมวลใหญ่ได้ขยายวงกว้าง และเริ่มไหลเข้าสู่พื้นที่ชั้นในแล้ว ...

แต่มาวันนี้ใครจะเชื่อว่า ... มีพื้นที่ ๆ หนึ่งในจังหวัดนนทบุรีที่ทุกวันนี้ ยังแห้งสนิท ปราศจากน้ำท่วม อีกทั้งการจราจรยังสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก ส่วนย่านชุมชนนั้นถึงแม้ว่าจะไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังพอใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้... และพื้นที่แห่งนี้นั่นก็คือ ชุมชนปากเกร็ด และตัวเมืองนนท์ ครอบคลุมไปยัง แยกสนามบินน้ำ แยกปากเกร็ด ถนนติวานนท์ วัดชลประมาน รพ.โรคทรวงอก สถาบันบำราศนาดูร ชุมชนเรวดี กระทรวงสาธารณสุข ส่วนฝั่งตะวันออกก็จะเป็นงามวงศ์วาน ประชานิเวศน์ ซอยสามัคคี หมู่บ้านเลียบคลองประปา ทั้งหมู่บ้านยิ่งรวยนิเวศน์ หมู่บ้านนันทวัน ...

จากสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าว หลายคนอาจจะคิดว่า "ปากเกร็ด และตัวเมืองนนท์" ไม่น่าจะรอดพ้นจากภาวะน้ำท่วมแน่ เพราะว่าปากเกร็ดอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งชุมชนโดยรอบยังถูกน้ำท่วมจนหมด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีพื้นที่ในปากเกร็ดอย่าง "เกาะเกร็ด" และชุมชนใกล้เคียงบางส่วนนั้นถูกน้ำท่วมจมบาดาลนานกว่า 2 เดือนแล้ว

เมื่อถามว่า "ฝั่งปากเกร็ดทำอย่างไร ถึงไม่ถูกน้ำท่วม" นั่นก็เป็นเพราะความสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือ ร่วมแรง ช่วยกันกั้นน้ำอย่างสุดความสามารถของชาวนนท์ทุกคน อีกทั้งยังมีหัวเรือใหญ่ อย่างเทศบาลนครปากเกร็ด นายอำเภอปากเกร็ด ที่วางแผนการสร้างคันกั้นน้ำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้พื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปากเกร็ดยันถนนติวานนท์ทั้งเส้น รวมถึงถนนงามวงศ์วานบางช่วง แห้งสนิท

แต่ทว่า ก็ยังมีหลายคนสงสัย และเป็นห่วงถึงชาวบ้านอีกฝั่งหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางน้ำท่วมนั้นว่าจะเป็นอย่างไรกันบ้าง ชาวบ้านอีกฝั่งมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้..


ภาพคันกั้นน้ำ บริเวณวัดหงส์ทอง ที่เกิดจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
ภาพคันกั้นน้ำ บริเวณวัดหงส์ทอง สูง 1 - 5 เมตร กว้าง 10 แถว ยาวกว่า 1 กิโลเมตร


ชาวบ้านฝั่งที่ถูกน้ำท่วมกล่าวว่า ... ถึงแม้ว่าฝั่งของตัวเองจะต้องทุกข์ระทมกับภาวะน้ำท่วมนานกว่า 2 เดือนแล้ว แต่พวกเขาไม่เคยมีความคิดที่จะพยายามรื้อทำลายแนวคันกั้นน้ำเลยสักนิด อีกทั้งยังช่วยดูแล และร่วมมือร่วมแรงสร้างคันกั้นดังกล่าวให้แข็งแรงกว่าเดิมอีกด้วย ตนไม่เคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่น้ำท่วมฝั่งบ้านของตน แต่อาจจะมีเครียด ๆ บ้าง เพราะให้สถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ผ่านไปโดยเร็วเสียที

"ทุกวันนี้ ตนพอใจที่อีกฝั่งไม่ท่วม เพราะถ้าอีกฝั่งท่วมก็จะไม่มีใครช่วยเหลือ ควรเก็บอีกฝั่งหนึ่งไว้เพื่อรองรับ และคอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางด้านนี้ดีกว่า ตอนนี้ตนก็พักอยู่วัดหงษ์ ถ้าตนอยากกลับบ้านเมื่อไร ตนก็แค่ข้ามสะพานกลับมาเท่านั้นเอง มาอยู่ตรงนี้ก็มีเพื่อน มีอะไรทำ ช่วยเขาทำกับข้าวบ้าง กรอกกระสอบทรายบ้างดีกว่า นั่งจมน้ำอยู่ฝั่งนู้น หรือไปศูนย์อพยพ" ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว


คันดินที่ วัดสลักเหนือ สูงเกือบมิดศาลา

คันกั้นดินที่สูง ราวกับเขื่อนกักเก็บน้ำ


แนวคันกั้นดินที่แข็งแรงของชาวนนท์ บริเวณวัดช่องลม ถึงวัดสลักเหนือ


ชาวบ้านวัดสลักเหนือ ได้มีการเพิ่มความแข็งแรงและความสูงของแนวคันเกือบทุกวัน และเฝ้าระวังเหตุการณ์ตลอดเวลา


อย่างไรก็ดี ชาวปากเกร็ดในฝั่งที่ไม่ถูกน้ำท่วม ต่างพากันช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ บ้านไหนที่ไม่ได้ออกมา ก็มีเจ้าหน้าที่พายเรือส่งอาหารให้ทุกมื้อ แจกจ่ายถุงยังชีพเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ถุง ส่วนฝั่งที่ถูกน้ำท่วมก็คอยแจ้งข่าวว่าตรงไหนคันกั้นน้ำรั่ว เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ได้มาอุดรูรั่วและจัดการทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว...

ส่วนทางด้านฝั่งนนท์ทางตะวันออกที่ขณะนี้น้ำจากแยกเกษตรได้ไหลเข้าท่วมชินเขต และพงษ์เพชรแล้ว ซึ่งระดับน้ำในฝั่งดังกล่าวค่อนข้างสูง และเช่นกัน เหตุการณ์ดังกล่าวก็กลายเป็นข้อสงสัยของใครหลาย ๆ คนว่า ทางฝั่งนนท์สร้างแนวกั้นน้ำขนาดสูงจนทำให้น้ำในพงษ์เพชรนั้นเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเปล่า...

ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่ทางฝั่งชินเขต และพงษ์เพชร เมื่อสมัยก่อนเป็นห้วย เป็นคลอง คอยส่งน้ำเพื่อการเกษตร มีทุ่งนาตลอดทั้งสองฝั่งถนน บวกกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นแอ่งกะทะ จึงไม่แปลกถ้าน้ำจะท่วมในระดับสูง ส่วนที่น้ำไม่ได้ไหลเข้าท่วมฝั่งงามวงศ์วานนั้นก็เป็นเพราะ มีคลองประปากั้นระหว่างกลางอยู่ ซึ่งทางกทม. ได้สร้างคันกั้นน้ำบริเวณคลองประปาอยู่แล้ว และอีกอย่างพื้นที่ทางฝั่งงามวงศ์วานมีระดับสูงกว่า น้ำจึงไม่สามารถไหลผ่านได้ เรียกได้ว่า ถ้าเมื่อไรที่พงษ์เพชรมีระดับน้ำท่วมสูงถึงเอว ถึงอก เมื่อนั้นทางฝั่งงามวงศ์วานจึงจะเริ่มท่วม

ชาวนนท์ส่วนมากในขณะนี้ ถึงแม้จะสบายใจไปได้บ้าง เพราะน้ำได้ไหลเลยตัวเมืองนนท์ไม่ว่าจะเป็นทางตะวันออกที่หัวน้ำมุ่งไปยังสะพานควายแล้ว ส่วนฝั่งตะวันตกหัวน้ำก็ไหลเข้าสู่บางแค รวมไปถึงการระบายน้ำของทางกรุงเทพฯมหานครที่ทำให้ปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นชาวนนท์ก็ยังไม่วางใจ เพราะไม่รู้ว่าน้ำจากคลองรังสิตตรง ต.บ้านใหม่ จะตลบหลังกลับมาท่วมเมื่อไร ทั้งนี้เป็นเพราะ Big Bag ที่กั้นไว้ทางตอนเหนือ ซึ่งอาจจะชะลอน้ำไว้ได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้น้ำลดปริมาณลง อีกทั้งยังกั้นทางน้ำให้น้ำมีระดับสูงขึ้น และมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่แนวคันกั้นน้ำใน ต.บ้านใหม่ จะไม่สามารถต้านทานได้อยู่

และไม่ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร น้ำอาจจะทะลักเข้าท่วมปากเกร็ด หรือทะลักเข้าท่วมฝั่งนนท์ตะวันออก ในไม่ช้านี้ แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้เห็นว่า ความพยายาม ความเสียสละ และความสามัคคีของชาวนนท์ทุก ๆ คน สามารถสร้างพลังชุมชน ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้อย่างมากมายมหาศาล โดยปราศจากความขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น

กระปุกดอทคอมของเป็นตัวแทนชาวนนท์ กล่าวคำว่า "ขอบคุณพี่น้องทุกคน จากใจจริง ๆ ค่ะ ^ ^ " และวันนี้เราก็ขออาสานำภาพของ คุณ noisonic (ถ่ายภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม) ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความสามัคคีร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจของชาวนนท์ ที่ช่วยกันกรอกกระสอบทราย เพื่อทำคั้นกันน้ำมาฝากกันค่ะ....






























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น