ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
กองทัพสับ’ปู’สอบตกแก้น้ำท่วม
กองทัพสับ “ยิ่งลักษณ์” สอบตกแก้น้ำท่วม แจงยิบ 12 ข้อ ไร้ภาวะผู้นำ สั่งใครไม่ได้-การเมืองครอบ “บ้านเลขที่ 111″ เขย่า “ปู” ซ้ำ จี้ปลดก่อนพรรคพัง ดัน “เฉลิม-ประชา” คั่วนายกฯ ขัดตาทัพ
ภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ อีสาน กลาง และกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความสามารถในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาวะการเป็นผู้นำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อย่างใหญ่หลวง ขณะนี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดกับประเทศไทยในรอบ 50 ปี
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ เปิดเผยต่อ “คม ชัด ลึก” ว่า ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 ของประเทศ ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือและถกเถียงกันในระหว่างที่ประชุมนายทหารระดับสูงของกองทัพ โดยเห็นตรงกันว่า นายกรัฐมนตรีขาดความเด็ดขาดและกล้าตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ ส่งผลให้มวลน้ำมหาศาลถาโถมเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และนำพาให้ประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างหนัก
แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพได้สรุปข้อผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี ในการบริหารจัดการภาวะน้ำท่วมนั้น มีทั้งหมด 12 ข้อ คือ 1.ขาดประสบการณ์ในการบริหารราชการ และไม่เข้าใจในการใช้เครื่องมือทางฝ่ายบริหารที่มีอยู่ ทั้งในส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น 2.เลือกใช้กฎหมายที่มีอยู่ไม่ถูกต้องต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ต้องให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บริหารจัดการ ขณะที่รัฐบาลเองไม่กล้าที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่ต้น
3.เรื่องกำหนดตัวบุคคล หรือจัดองค์กรในการเข้ามาดูแล ศปภ. ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ใช้คนไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องน้ำเข้ามาแก้ไข โดยเฉพาะ ผอ.ศปภ. แทนที่จะเป็นกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นกระทรวงยุติธรรม 4.บทบาทของฝ่ายการเมืองมีลักษณะเป็นการทำเพื่อหวังผลทางการเมือง บนความทุกข์ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการแจกของโดยแจกให้เฉพาะคนกลุ่มคนเสื้อแดง หรือผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลเป็นหลัก ทำให้เกิดความขัดแย้งของประชาชนในหลายจุด
5.ความไม่เข้าใจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี และศปภ. ต่อภูมิศาสตร์ หรือภูมิสถาปัตย์ หรือกายภาพของประเทศ ว่าทิศทางเดินทางของน้ำควรเดินไปทางไหน ซึ่งไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำ และธรรมชาติของภูมิภาค 6.รัฐบาลไม่เลือกพื้นที่ หรือจัดระดับความสำคัญว่า รัฐบาลจะให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่สงวนไม่ให้เกิดความความเสียหาย แต่รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง แทนที่จะเอามิติทางสังคมของประเทศไทยเป็นตัวตั้ง
7.การบริหารการจัดการน้ำของนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาแบบคล้ายๆ ขายผ้าเอาหน้ารอด คือการเอาคนในพื้นที่ไปอยู่ท้ายน้ำ และเอาคนไปอยู่เส้นทางน้ำผ่านทั้งหมด จึงทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นทวีคูณ แม้แต่ ศปภ.ยังต้องอพยพและไปอยู่ท้ายน้ำเหมือนกับการอพยพประชาชน 8.รัฐบาล และ ศปภ.ปกปิดข้อมูลที่สำคัญบางอย่างกับประชาชน คือปริมาตรน้ำที่มีอยู่ พูดภาษาราชการเกินไป แทนที่จะบอกว่าขณะนี้ระดับไหนถึงไหน ขณะที่ปริมาตรน้ำเข้ามาใน กทม. แจ้งกันในเฟซบุ๊ก ทำให้ข้อมูลข่าวสารได้รับเพียงประชาชนคนชั้นกลางที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำไม่เคยรับรู้เรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
9.การเมืองระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ใช้เวทีบริหารจัดการน้ำ มาชิงพื้นที่ทางการเมือง ส่งผลให้การบูรณาการทั้งระบบล้มเหลว 10.วิธีการของรัฐบาลที่เรียกว่า จับราชการแยกออกจากกันด้วยการสร้างอาณาจักรตำรวจ ขึ้นมาแข่งกับทหาร โดยมอบหมายภารกิจของทหารให้ตำรวจทำ แทนที่จะให้จับโจรผู้ร้าย 11.การสื่อสารของรัฐบาลไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในการนำเสนอให้ประชาชนได้รับรู้ ที่ผ่านมารัฐบาลเสนอข้อมูลแบบซ้ำไปซ้ำมา และ 12.เรื่องการขุดเจาะถนนเพื่อระบายน้ำถือว่ามีความจำเป็น แต่รัฐบาลปฏิเสธที่จะทำเรื่องดังกล่าว
นายทหารระดับสูงจากกองทัพยังยืนยันด้วยว่า แม้กองทัพจะมองเห็นจุดด้อย และวิจารณ์การบริหารของนายกรัฐมนตรี แต่พรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง ไม่ต้องกลัวว่าทหารจะออกมาปฏิวัติ เพราะในสถานการณ์แบบนี้ กองทัพต้องเลือกที่จะช่วยเหลือประชาชนก่อน และที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกมาย้ำหลายครั้งว่า ทหารไม่ปฏิวัติแน่นอน
ขณะเดียวกัน นอกจากถูกวิพากษ์จากกองทัพแล้ว นายกรัฐมนตรียังถูกการเมืองภายในพรรคเพื่อไทย ออกมาเขย่าซ้ำอีกโดยแหล่งข่าวจากกลุ่มบ้านเลขที่ 111 เปิดเผยว่า เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มได้หารือมีข้อเสนอว่า กรรมการบริหารพรรคควรจะโหวต เพื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีใหม่ เพราะหากปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บริหารประเทศต่อไป คะแนนของพรรคจะติดลบมากกว่านี้
“เสียงสะท้อนจากหลายพื้นที่น้ำท่วม ถล่มนายกฯ ปู เละเทะ โดยเฉพาะเรื่องภาวะผู้นำ ไม่กล้าตัดสินใจ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถสั่งการให้ข้าราชการ และรัฐมนตรีต่างพรรคปฏิบัติตาม หรือแม้กระทั่งนักการเมืองภายในพรรคเพื่อไทย นายกฯ ปูยังไม่สามารถสั่งได้ และที่สำคัญชาวบ้านที่เป็นฐานเสียงของพรรคหลายคนรับไม่ได้กับการบริหารจัดการเรื่องน้ำของรัฐบาล” แหล่งข่าวระบุ
แกนนำจากบ้านเลขที่ 111 บอกด้วยว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี “ขัดตาทัพ” ในเบื้องต้น คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี หรือ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม
“ร.ต.อ.เฉลิม นกรู้ที่สุดในวิกฤติน้ำ เขาชิ่งออกจากระบบ ไม่มีข่าวด้านลบเลย จุดเด่นของ ร.ต.อ.เฉลิม คือกล้าคิด และกล้าตัดสินใจ แต่พล.ต.อ.ประชา มีปัญหาเมื่อตอนนั่ง ศปภ. ทั้งประเด็นการสื่อสารและสั่งงาน ที่ไม่มีประสิทธิภาพ” แหล่งข่าวระบุ
-คมชัดลึก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น