วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อุตุฯ เตือนภาคใต้ 24 -25 พ.ย. ระวังน้ำท่วมฉับพลัน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 14 ภาคใต้ ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไป มีฝนหนักถึงหนักมาก เตือนประชาชนตามที่ลาดเชิงเขาระวังน้ำป่าหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย "ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ " ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ในช่วงวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2554 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไป ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มริมน้ำ บริเวณจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล ระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง

โดยเฉพาะ อ.ไชยา อ.วิภาวดี อ.ท่าฉาง อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ฯ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง อ.ลานสกา อ.เมือง อ.พรหมคีรี อ.พิปูน อ.นบพิตำ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อ.กงหรา อ.ศรีนครินทร์ อ.ศรีบรรพต อ.ปากพะยูน อ.ตะโหมด อ.ป่าบอน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อ.รัตภูมิ อ.สะบ้าย้อย อ.หาดใหญ่ อ.นาหม่อม อ.สิงหนคร อ.นาทวี จ.สงขลา อ.มายอ อ.สายบุรี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อ.เมือง จ.ยะลา อ.สุไหงโกลก อ.สุไหงปาดี อ.เจาะไอร้อง อ.แว้ง อ.จะแนะ จ.นราธิวาส

ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประสบภัยเพื่อทราบและติดตามข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงไอซีที อย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง สำหรับประชาชนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ให้ระวังอันตรายจากคลื่นสูงที่ซัดเข้าหาฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยประกอบกับคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนก่อนในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยมีอากาศหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง และจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้ในบริเวณภูเขาสูงของภาคเหนือ







น้ำท่วมสงขลาวิกฤติ! เร่งอพยพประชาชน


น้ำท่วมสงขลา เข้าขั้นวิกฤติ ล่าสุดชาวบ้านใน ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย ต้องอพยพ ออกจากพื้นที่ เนื่องจากมีน้ำท่วมสูง 2-4 เมตร

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เริ่มเข้าขั้นวิกฤติ ล่าสุดชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1 บ้านแลแบง ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จำเป็นต้องอพยพออกจากหมู่บ้านทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ 99 ครัวเรือน จำนวน 364 คน โดยได้มาอาศัยอยู่ภายในโรงยิมเนเซียม ห้องอาหาร และศาลาละหมาดของโรงเรียนสะบ้าย้อย เนื่องจากสภาพภายในหมู่บ้านนั้นน้ำท่วมสูงประมาณ 2-4 เมตร จนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เป็นผลมาจากน้ำป่าจากเขาบาโหย-เขาแดง ใน อ.สะบ้าย้อย และน้ำป่ามาจาก อ.กาบัง จ.ยะลา ที่ไหลมารวมตัวกันที่บ้านแลแบง ทำให้น้ำหนุนเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว

โดยขณะนี้ทางฝ่ายปกครองอำเภอสะบ้าย้อย อบต.สะบ้าย้อย อบจ.สงขลา ทหารพราน กำลังเข้าไปดูแลและส่งความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอาหารให้กับชาวบ้านทั้งหมด ซึ่งอยู่กันค่อนข้างแออัด ภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวของโรงเรียนสะบ้าย้อย และส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง รวมทั้งเด็กอายุที่เพิ่งคลอดไม่เกิด 1 เดือน




คลื่นซัดถนนเลียบชายทะเล เสียหาย

คลื่นซัดถนนเลียบชายทะเล สายสงขลา-นาทับ ในพื้นที่บ้านปึก อ.จะนะ จ.สงขลา เสียหายไป 1 เลน ความยาวประมาณเกือบ 100 เมตร

สำหรับในพื้นที่จังหวัดสงขลา ในช่วงนี้คลื่นลมในทะเลมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้คลื่นซัดกระหน่ำถนนเลียบชายทะเล หมายเลข สข.5004 ของกรมทางหลวงชนบท สายสงขลา - นาทับ ในพื้นที่ ม.10 บ้านปึก ต.นาทับ อ.เมือง จ.สงขลา ทำให้ถนนพังเสียหายไป 1 เลน รถยนต์ที่ใช้เส้นทางนี้จะต้องวิ่งด้วยความระมัดระวัง เข้าไปชิดขอบถนน ซึ่งเสี่ยงต่อการยุบตัวของถนน เนื่องจากคลื่นที่มีความรุนแรงซัดกระหน่ำดินทรายใต้ท้องถนนอยู่ตลอดเวลา คาดว่า คืนนี้ถนนบริเวณนี้อาจจะขาดทั้งสองเลน

ขณะเดียวกัน สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดสงขลา ได้นำป้ายมาติดตั้ง เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน ผ่านเส้นทางนี้ว่า เส้นทางขาด ถนนชำรุด วางไว้กลางถนนโดยขอให้ใช้เส้นทางสายนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะหากถนน โดนคลื่นซัดกระหน่ำอาจเกิดอันตรายถนนยุบตัวรถยนต์อาจตกลงไปในทะเลได้

จากการสอบถาม นายหมูด สูเย๊าะ ชาวบ้านปึก ที่มีบ้านอยู่บริเวณริมถนนที่พังเสียหาย เปิดเผยว่า ได้รับความเดือดร้อนมาก กลางคืนนอนไม่หลับ เพราะคลื่นมันซัดเข้ามาเรื่อย ๆ มันกัดเซาะเข้ามาข้างใต้ ถามว่ากลัวไหม ก็กลัว ต้องหนีไปนอนบ้านลูกที่นาทับ ปีที่ผ่านมาก็ไปนอนมา 2 ครั้ง







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น