วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ธ.โลกชี้ศก.ไทยเสียหาย1.4ล้านล้าน


ธ.โลกชี้ศก.ไทยเสียหาย1.4ล้านล้าน

ธนาคารโลกเผยผลสำรวจความเสียหายน้ำท่วมใหญ่ 1.4 ล้านล้านบาท ดึงจีดีพีปี 54 ลดลงเหลือ 2.4% ชี้ปี 56 ภาคการผลิตกลับสู่ภาวะปกติ "โกร่ง-โต้ง" เหินฟ้าสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่น โวหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ยันไม่ย้ายฐาน ส่วนนิคมบางปะอินนำร่องโครงการกู้ดอกต่ำ 700 ล.ป้องน้ำท่วม



สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของไทย สร้างความสูญเสียต่อภาพรวมในด้านต่างๆ ตามมาอย่างมาก ล่าสุดธนาคารโลกได้ทำการสำรวจความเสียหายทางเศรษฐกิจและความสูญเสียทางธุรกิจ ปรากฏว่าตัวเลขสูงกว่าที่ภาคเอกชนได้ประเมินไว้ 1.12 ล้านล้านบาท




นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลกร่วมกับยูเอ็น ไจก้า และหน่วยงานราชการ 40 หน่วยงาน รวมทั้งเอ็นจีโอ โดยใช้เวลาลงพื้นที่สำรวจความเสียหายตามวิธีมาตรการสากลเป็นเวลา 3 สัปดาห์ในเบื้องต้น ครอบคลุมทั้ง 18 กลุ่ม 4 ด้าน คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านภาคการผลิต ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าไทยมีความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้รวม 1.4 ล้านล้านบาท


น้ำท่วมดึงจีดีพีปี54เหลือ2.4%


"การสำรวจแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจ เช่น อาคารบ้านเรือน โรงงาน ทรัพย์สินถาวรที่เสียหาย พบว่าส่วนนี้มีความเสียหายทั้งสิ้น 6.6 แสนล้านบาท ส่วนการประเมินความสูญเสียทางธุรกิจ เช่น การหยุดผลิตสินค้า การปิดโรงงาน พบว่ามีความเสียหายประมาณ 7 แสนล้านบาท" นางแอนเน็ต ระบุ


ผู้อำนวยการธนาคารโลกกล่าวอีกว่า ผลของน้ำท่วมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประมาณ 1.2% ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายเพียง 2.4% จากเดิมมองว่าจะขยายตัว 3.6% ซึ่งเป็นการคำนวณบนพื้นฐานของปัจจัยบวกที่จะมาจากการลงทุน การอัดฉีดเงินเข้าไปฟื้นฟูของรัฐแล้ว ส่วนปี 2555 มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.5% และเชื่อว่าปี 2556 ภาคการผลิตน่าจะกลับสู่ภาวะปกติทั้งหมด


“แนวทางที่ธนาคารโลกจะเสนอต่อรัฐบาลมีทั้งระยะเร่งด่วน 6 เดือน ระยะ 2 ปีและมากกว่า 2 ปี แต่ไม่ได้เสนอแนะว่าต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะเห็นว่ารัฐมีมาตรการอยู่แล้ว แต่ให้เน้นช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่ยากจนเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงช่องทางในการรับความช่วยเหลือ” นางแอนเน็ต กล่าวทิ้งท้าย


"โกร่ง"บินเคลียร์ญี่ปุ่น26พ.ย.นี้


นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เปิดเผยว่า จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นพร้อมนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเข้าพบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รมว.คลังญี่ปุ่น และภาคเอกชน โดยจะชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมของในไทยและนำเสนอแผนการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต รวมทั้งเป็นโอกาสในการขอบคุณรัฐบาลและภาคเอกชนของญี่ปุ่นที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาน้ำท่วมแก่ประเทศไทยด้วยดี


"จากการพบกับไจก้าและประธานขององค์การส่งเสริมการค้าญี่ปุ่น (เจโทร) รวมถึงผู้บริหารของโตโยต้า ยังยืนยันจะอยู่ในไทยต่อและไม่ลดการลงทุนในอนาคต โดยโตโยต้าจะผลิตรถยนต์ปีหน้า 1 ล้านคันตามเดิม และ 2.5 ล้านคันภายใน 5 ปี ส่วนบริษัทญี่ปุ่นอื่นๆ ก็ยืนยันไม่ถอนการลงทุนจากไทยเช่นกันเนื่องจากไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่าประเทศอื่นๆ" นายวีรพงษ์ ยืนยัน


การันตี4เดือนแผนน้ำคืบหน้า


ประธานกยอ.ย้ำว่า จากการเดินทางไปพบกับ 13 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกและพบกับประธานของลอยด์ บริษัทรับประกันต่อที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งทางลอยด์ยืนยันที่จะทำธุรกิจในไทยต่อ เพราะมีวงเงินประกันสูงถึง 8 แสนล้านบาท และพร้อมที่จะรับประกันภัยในไทยต่อไป แต่ยอมรับว่าในปีแรกเบี้ยประกันและค่าธรรมเนียมอาจจะต้องปรับตัวสูงขึ้น แต่หลังจากนั้นเมื่อทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันจะกลับมาเท่าเดิม


"บริษัทประกันต่างๆ ต้องการทราบแผนจัดการน้ำของไทยในระยะต่อไป และจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าในทางปฏิบัติ โดยต้องการให้ไทยสร้างความเชื่อมั่นและให้เวลาอีก 3-4 เดือนจะต้องไปพบและเสนอความคืบหน้าในการดำเนินการอีกครั้งจึงเตรียมที่จะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป "


บางปะอินนำร่องกู้700ล.ป้องน้ำ


นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมาตรการสินเชื่อ เพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทว่า ขณะนี้มีนิคมอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ นวนคร บางกะดี และบางปะอิน ทั้ง 4 แห่งสนใจที่จะเข้าร่วมในโครงการ โดยรูปแบบการก่อสร้างจะยึดเอาแบบของไจก้า เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดระดับความสูงของสันเขื่อนเพื่อป้องกันอุทกภัยต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 70 ปีเพิ่มขึ้นไปอีกไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร


“จากที่หารือกับ 4 นิคม แต่ละแห่งจะใช้วงเงินและขนาดของการก่อสร้างต่างกัน เนื่องจากนิคมมีทั้งขนาด 2 พันไร่ ถึง 7 พันไร่ หรือมีขนาดแนวป้องกันนิคมยาวตั้งแต่ 8.5 กิโลเมตรถึง 67 กิโลเมตร โดยพบว่าบางปะอินมีความพร้อมสุด เพราะขณะนี้เริ่มเดินเครื่องฟื้นฟูและได้เอกชนเข้ามารับงานด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 700 ล้านบาท คาดว่าเดือนมกราคมปีหน้าจะพิจารณาและเริ่มก่อสร้างได้” นายเลอศักดิ์ กล่าว


ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวอีกว่า เจ้าของนิคมส่วนใหญ่รับได้กับอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด 0.01% แต่อยากขอให้ยืดระยะเวลาการชำระคืนออกไปจาก 7 ปีเป็น 15 ปีเพราะหลังจากปีที่ 7 หากออมสินกลับมาคิดอัตราดอกเบี้ยปกติทางนิคมจะมีภาระในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงขึ้นและจะเป็นภาระของบริษัทที่อยู่ในนิคมเพิ่มขึ้นด้วย


คนกรุงขอชดเชยพุ่ง6.2แสนราย


"ทางนิคมมองว่าวงเงินลงทุนสร้างแนวและระบบป้องกันน้ำท่วม 1.5 หมื่นล้านบาทนั้นน่าจะมีเหลือพอจึงเสนอให้นำวงเงินดังกล่าวมาปล่อยกู้ให้บริษัทในนิคมที่ได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งผมจะนำข้อเสนอดังกล่าวมาหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีต่อไป" นายเลอศักดิ์ระบุ


พร้อมกันนี้ นายเลอศักดิ์ยังได้กล่าวถึงการจ่ายเงินชดเชย 5 พันบาทให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ในส่วนของคนกรุงเทพฯ ขณะนี้มีการลงทะเบียนแล้วจำนวน 6.2 แสนรายและน่าจะมีเพิ่มเข้ามาอีก หากได้รับรายเชื่อเข้ามาน่าจะทยอยจ่ายเงินได้ภายใน 5 วัน และใช้หลักการจ่ายเงินวิธีเดียวกับการจ่ายให้คนต่างจังหวัดก่อนหน้านี้ที่ผู้รับต้องนำใบรับรองจากเขตและบัตรประชาชนมาแสดงและรับเงินสดไป


"ส่วนตัวเลขผู้ประสบภัยในต่างจังหวัดได้รับรายเชื่อเข้ามาเพิ่มอีก 2.2 ล้านคน จากที่จ่ายไปแล้วก่อนหน้านี้เดือนสิงหาคม-กันยายน จำนวน 45 แสนคนและจ่ายเงินไปทั้งหมดแล้ว ส่วนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 53-พฤษภาคม 54 จ่ายเงินชดเชยไปแล้วจำนวน 1.3 ล้านคน" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวทิ้งท้าย


ชงเดินหน้าบัตรสินเชื่อเกษตรกร


นายบุญช่วย เจียดำรงชัย รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร แต่ยังไม่ได้มีการอนุมัติโครงการดังกล่าว เพราะยังต้องพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม โดยได้มีการเสนอให้เช่าเหมาบริการระบบงานบัตรสินเชื่อเกษตรกรจากบริษัท วี-สมาร์ท จำกัด ระยะเวลาเช่า 3 ปี ใช้งบประมาณรวม 177 ล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่างบประมาณ 41% ทั้งนี้ บริษัท วี-สมาร์ท จะจัดทำระบบบัตร ดูแลอุปกรณ์และระบบประจำส่วนกลาง ที่สาขา และที่ร้านค้าหรือผู้ประกอบการ รวมทั้งค่าจัดทำบัตร 2 ล้านใบ


“หากบริษัทวี-สมาร์ท จัดทำระบบบัตรสินเชื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว ธ.ก.ส.จะดำเนินการรนำร่องในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เบื้องต้นจะจำกัดวัตถุประสงค์การใช้เฉพาะชำระค่าปัจจัยการผลิตคือค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ย และค่ายาปราบศัตรูพืชที่เกษตรกรซื้อจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส. (สกต.) และร้านค้าเครือข่าย 3,000 ร้านค้า โดยเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต้องเป็นลูกค้าธ.ก.ส. ที่ไม่มีหนี้ค้างชำระและไม่เป็นลูกค้าตามโครงการพักชำระหนี้ ต้องมีผลผลิตข้าวส่วนเหลือเพื่อขายและต้องนำผลผลิตข้าวมาจำนำตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล” นายบุญช่วย กล่าว


สำหรับวงเงินสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตของเกษตรนั้น ธ.ก.ส. ได้กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ของผลผลิตส่วนเหลือเพื่อขาย แต่ในส่วนของบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส. จะกำหนดวงเงินตามความจำเป็นและเหมาะสมในการผลิตข้าวของเกษตรกรแต่ละรายไม่เกิน 30% ของ 70% ตามวงเงินสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี(เอ็มอาร์อาร์)ที่ 7% ปลอดดอกเบี้ย 30 วัน โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการบัตรสินเชื่อแก่เกษตรกรได้ ภายในเดือนมกราคม 2555





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น