ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ภาพเก่า หายาก "ธงสยาม"
เชิญชมภาพเก่าหายาก
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕
โปรดสังเกตให้ดี ภายในภาพต่างๆ จะปรากฏ
"ธงสยาม" (Siam flag) หรือ "ธงช้าง" (Thong Chang)
ประดับอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย
(บน) ภาพขณะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉายรูปร่วมกับข้าราชการและบริพารที่สนองพระบรมราโชบายพัฒนาแผ่นดิน
(บน) ภาพสถานีรถไฟราชบุรี เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานรถไฟราชบุรี ในภาพทางขวามือคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภชตามเสด็จด้วย
(บน) ภาพพิธีเปิดการเดินรถราง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕
(บน) ภาพหายาก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ประทับบนหลังม้าพระที่นั่งก่อนการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก
(บน) เรือกลไฟขนาดย่อม ซึ่งกรมทหารเรือจัดเตรียมถวายขณะเทียบที่ศาลาสะพานท่าน้ำหลวง เมืองจันทบุรี เนื่องจากร่องน้ำตื้น จึงทำให้เรือพระที่นั่งมหาจักรีแล่นเข้ามาไม่ได้ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(บน) เมื่อครั้งเสด็จผ่านประตูด้านหลังพระอารามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยด้านบนเป็นคำถวายพระพร (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(บน) ซุ้มกระทรวงโยธาธิการ พระพฤหัสทรงกวางในภาพคือต้นแบบของพระบรมรูปทรงม้า ที่ถูกจัดสร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณเดียวกัน (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(บน) ซุ้มกระทรวงกลาโหม ในภาพช่างฉายรูปในพระนครกำลังบันทึกภาพซุ้มต่างๆ โดยมีธงสยามห้อยระย้าเรียงรายสองฝากฝั่ง (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(บน) บริเวณท่าน้ำด้านหน้าวัดกาลหว่าร์ มีประชาชนมายืนรับเสด็จจำนวนมาก (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(บน) การรับเส็จที่ตึกศุลกสถาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สังเกตุเห็นธงสยามหรือธงช้างโบกสบัดอยู่บนยอดตึก (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(บน) ด้านหน้าโดมซึ่งต่อเชื่อมกับพลับพลารับเสด็จบริเวณท่าน้ำราชวรดิษฐ์ มีธงสยามประดับอยู่ฐานโดม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(บน) ซุ้มกระทรวงมหาดไทย ตกแต่งด้วยสายมาลัยจำนวนมากถักสานไขว้สลับไปมา พร้อมธิวธงสยามตลอดสองฝากถนน (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(บน) ภาพขณะรับคำถวายพระพรและกล่องเงินที่ระลึกจากพ่อค้าชาวยุโรป (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(บน) ภาพซุ้มกระทรวงยุติธรรม มีธงสยามผูกเป็นราวไล่ลงมาจากยอดจนถึงด้านล่าง (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ถ้าท่านสนใจเรื่องซุ้มรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สามารถค้นคว้าหาอ่านเพิ่มเติมได้จาก
"หนังสือซุ้มรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง" โดย ยุวดี ศิริ
(บน) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดงานการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ ครั้งที่๑ พ.ศ. ๒๔๕๓ (ร.ศ. ๑๒๙) ณ สระปทุม
(บน) สะพานข้ามไปยังสถานการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ ครั้งที่๑ พ.ศ. ๒๔๕๓ ในภาพเป็นบริเวณสระปทุม จะเห็นธงสยามปลิวไสวอยู่ทั่วไป
(บน) ธงสยามถูกประดับอย่างสวยงามในงานการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ ครั้งที่๑
(บน) รถไถนาคันแรกของสยามที่หม่อมราชวงศ์สุวพรรน์ นำเข้ามาร่วมแสดงในงานกสิกรรมแลพานิชการตกแต่างด้วยธงสยามรอบคัน
(บน) พิธีเปิดกรมไปรษณีย์โทรเลขสมัยรัชกาลที่ ๕ จะเห็นว่ามีการประดับธงช้างเต็มไปหมด
(บน) วัดเบญจมบพิตรในสมัยรัชกาลที่๕ เมื่อกำลังมีงาน จะเห็นธงช้างติดอยู่โดยรอบวัด ขณะนั้นพระอุโบสถยังสร้างไม่เสร็จ
(บน) ภาพจากต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทรงยืนลำดับที่๕จากซ้าย) ณ สกาเคน เดนมาร์ก ครั้งเสด็จยุโรป รศ ๑๒๖ สังเกตเห็นธงสยามปักอยู่ทางขวามือด้วย
(บน) ภาพจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส (ปกหลัง) Le Petit Journal ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1905
ภายหลังความตกลง สยาม-ฝรั่งเศส ฉบับ ค.ศ. 1904 ฝรั่งเศสยอมถอนกำลังออกจากจันทบุรี แต่กลับไปยึดครองตราดและเกาะกงไว้แทน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นหลักประกันว่าสยามจะปฏิบัติตามอนุสัญญาใหม่โดยเคร่งครัด ในภาพเป็นพิธีมอบตราดและเกาะกงอย่างเป็นทางการให้นายโมเรล ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำเขมร ส่วนตัวแทนของฝ่ายไทยคือพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยสิริ) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย อนึ่ง สยามได้ตราดกลับคืนมาจากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับ ค.ศ. 1907
เรื่องราวที่น่าสนใจ
เนื่องใน "วันตราดรำลึก"
เล่าโดย: คุณพ่อ เจียร จินตกานนท์
ชาวเมืองตราดจะเชิญธงช้างขึ้นประดับประดาตามบ้านเรือนในเดือนมีนาคม เพื่อร่วมฉลอง "วันตราดรำลีก" ในวันที่ 23 มีนาคม ดังสำเนา ประกาศจังหวัดตราดที่แนบมา
คุณพ่อ เจียร จินตกานนท์เคยเล่าว่า เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองตราด เราถูกบังคับใช้เชิญธงช้างลง ชาวบ้านน้ำตาไหล ยกชายผ้าถุง ชายผ้าขาวม้าขึ้นซับน้ำตา เพราะธงชาติไทยนั้นหมายถึง ความเป็นคนไทย เราไม่รู้ว่า จะมีวันที่ได้กลับมาเป็นคนไทย ได้เชิญธงไทยขึ้นอีกหรือไม่ ในวันที่เสด็จพ่อร.5 ได้นำความเป็นคนไทยคืนกลับมา คือวันที่ 23 มีนาคม 2449 นั้น ชาวเมืองตราดได้เห็น ธงช้าง เชิญสู่ยอดเสาอีกครั้ง ลุกเด็กเล็กแดง คนเฒ่าคนแก่ ร้องไห้ ก้มลงกราบ ธงชาติไทย ธงช้างจึงมีความหมายต่อชาวเมืองตราด เมื่อคุณพ่อได้เสนอให้ วันที่ 23 มีนาคม เป็นวันสำคัญของจังหวัด เป็นวันตราดรำลึกแล้ว จึงได้ริเริ่มและรณรงค์ให้ชาวบ้านประดับธงช้างกันในวันนี้ของทุกปี และปีนี้ เมืองตราดจะฉลอง 100 ปีแห่งอิสรภาพและความเป็นคนไทยของเรา ไปร่วมฉลองด้วยกันนะคะ
(สำเนา)ตราครุฑ
ประกาศจังหวัดตราด
เรื่อง วันตราดรำลึก
เนื่องด้วยในคราวประชุมสภาจังหวัดตราด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2514 สภาจังหวัดตราดได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถือ วันที่ 23 มีนาคม ของปีเป็นวันสำคัญของจังหวัดตราด ตามที่ นายเจียร จินตกานนท์ สมาชิกสภาจังหวัดเป็นผู้เสนอ โดยให้เหตุผลว่าดินแดนที่เป็นจังหวัดตราดนี้เคยตกไปอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสระยะหนึ่ง และภายหลังฝรั่งเศสได้ยอมคืนดินแดนจังหวัดนี้ให้แก่ประเทศไทย โดยได้ลงนามในสัญญากัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2449 จังหวัดพิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วยกับมติของสภาจังหวัด จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า จังหวัดนี้ถือเอา วันที่ 23 มีนาคม ของปี เป็นวันสำคัญของจังหวัด และให้เรียกว่า “วันตราดรำลึก” ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวจังหวัดตราดได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงพยายามทุกวิถีทาง เพื่อได้มาซึ่งดินแดนและสิทธิเสรีภาพของชาวจังหวัดตราด ภายใต้ธงไทยอันร่มเย็นหาสิ่งใดเปรียบปานมิได้ประกาศ ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2514
(ลงชื่อ) กนกศักดิ์ วรรณกนก
(นายกนกศักด์ วรรณกนก)
ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด
ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส ๕ ครั้ง ครั้งที่๑ ปี พ.ศ.๒๔๑๐ เสียดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศเขมรและเกาะ ๖ เกาะ ประมาณเนื้อที่ ๑๒๔,๐๐๐ ต.ร.ก.
ครั้งที่๒ ปี พ.ศ.๒๔๓๑ เสียดินแดนด้านแคว้นสิบสองจุไทย ประมาณเนื้อที่ ๘๗,๐๐๐ ต.ร.ก.
ครั้งที่๓ ปี พ.ศ.๒๔๓๖ เสียดินแดนด้านฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ประมาณเนื้อที่ ๒๔๓,๐๐๐ ต.ร.ก.
ครั้งที่๔ ปี พ.ศ.๒๔๔๖ เสียดินแดนด้านฝั่งขวาแม่น้ำโขง ประมาณเนื้อที่ ๖๒,๕๐๐ ต.ร.ก.
ครั้งที่๕ ปี พ.ศ.๒๔๔๙ เสียดินแดนด้านจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ประมาณเนื้อที่ ๕๑,๐๐๐ ต.ร.ก.
การเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ ๕ รวมห้าครั้งด้วยกันคือ
ครั้งที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ไทยเสียเขมรส่วนนอกและเกาะอีก ๖ เกาะ ให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการเสียดินแดนครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เสียดินแดนทั้งหมด ๔ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๓๑
หลังจากที่ไทยได้ปราบพวกฮ่อเรียบร้อยแล้วใน พ.ศ. ๒๔๒๘ ในปีต่อมาฝรั่งเศสเข้ามาขอทำสัญญากับไทย ตั้งศาลกงสุลที่นครหลวงพระบาง และตั้งให้ ม. ปาวีร์ เป็นกงสุล ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ พวงฮ่อได้เข้ามาปล้นเมืองหลวงพระบางอีก แต่ไทยก็ปราบฮ่อได้อีก ซึ่งครั้งนี้ ม. ปาวีร์ ตกอยู่ในอันตราย ซึ่งไทยช่วยให้รอดชีวิตมาได้ การปราบฮ่อทุกครั้งฝรั่งเศสไม่เคยช่วยเลย แต่เมื่อไทยปราบฮ่อเสร็จแล้วฝรั่งเศสกลับมายึดเอาแคว้นสิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหกไว้ โดยอ้างว่าเอาไว้เป็นกำลังปราบฮ่อ ไทยจะเจรจาอย่างไรฝรั่งเศสไม่ยอมถอยทัพกลับ ฉะนั้นใน พ.ศ. ๒๔๓๑ แคว้นสิบสองจุไทยจึงตกเป็นของฝรั่งเศส
ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒)
ฝรั่งเศสแต่งตั้ง ม. ปาวีร์ เป็นอัคราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ในระหว่างนี้ฝรั่งเศสอ้างสิทธิว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเดิมเป็นของญวนและเขมร ดังนั้นฝรั่งเศสควรมีสิทธิครอบครองดินแดนนี้ด้วย และในการปักปันเขตแดนนี้ฝรั่งเศสได้ถือโอกาสเอาแม่น้ำโขงเป็นหลัก ไทยเราไม่ยอม ฝรั่งเศสส่งทหารญวนลุกล้ำเข้ามาจึงเกิดการปะทะกับทหารไทยที่รักษาดินแดนอยู่ และยังได้ส่งเรือนำร่องมาจากพนมเปญมาตามลำน้ำโขง เกิดปะทะกับฝ่ายไทยและต่อมาไม่นานก็ได้ส่งเรือรบ ๒ ลำ ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ เข้ามาในอ่าวไทยโดยอาศัยเรือสินค้าเป็นเรือนำร่อง เจ้าหน้าที่ไทยที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ ส่งสัญญาณห้ามให้หยุดไม่เป็นผล จึงยิงลูกหลอกขู่ ฝรั่งเศสได้ระดมยิงเรือไทย คือเรือมกุฎราชกุมารของไทยเสียหาย ส่วนเรือนำร่องของฝรั่งเศสถูกยิงชำรุด แต่เรือรบ ๒ ลำ คือเรือแองคองสตังต์และเรือโคเมตได้แล่นสู่กรุงเทพ ฯ จอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ม. ปาวีร์ ได้ยื่นคำขาดให้ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง ดังนี้คือ
ก. ให้ไทยยอมรับว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดทั้งเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสทั้งสิ้น และไทยถูกบังคับให้ถอนทหารชายแดนทั้งหมด
ข. เสียค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส เป็นเงินไทยประมาณ ๓ ล้านบาท และเงินฝรั่งเศส ๒ ล้านฟรังก์
ไทยขอให้เสนอมหาประเทศพิจารณา ถ้าฝรั่งเศสมีหลักฐานอ้างอิงได้ว่าดินแดนแถบนี้เป็นของญวนและเขมรก็จะยอมยกให้ ฝรั่งเศสไม่ยอมและพร้อมกันนี้ก็ประกาศปิดอ่าวไทย เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ไทยต้องยอมทำตามคำขาดของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๓๖
ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๔๖
ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันเป็นเวลา ๑๐ ปี แต่เมื่อไทยได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารจากจันทบุรี จันทบุรีเป็นดินแดนสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ฉะนั้น ไทยต้อทำสัญญากับฝรั่งเศสอีก ๒ ฉบับ
ฉบับที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ ไทยยอมทำสัญญาแลกเปลี่ยนยอมยกเมืองจำปาศักดิ์ มโนไพร ให้แก่ฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสจะยอมยกออกจากเมืองจันทบุรี แต่แล้วฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารจากจันทบุรี
ฉบับที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ ไทยต้องทำสัญญาอีก กำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับเขมรโดยใช้ภูเขาบรรทัดเป็นหลัก และยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบางให้แก่ฝรั่งเศส และให้ฝรั่งเศสเช่าที่ทำท่าเรือที่หนองคาย มุกดาหาร และปากน้ำมูลได้
ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๙
ฝรั่งเศสถอนทหารจากเมืองจันทบุรีกลางปี พ.ศ. ๒๔๔๘ แล้วไปยึดเมืองตราดเพื่อที่จะให้ฝรั่งเศสออกจากตราดไทยยอมยกขมรส่วนใน คือเมืองเสียมราฐและเมืองพระตะบองให้แก่ฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๔๔๙ นอกจากจะได้เมืองตราดคืนแล้วฝรั่งเศสยังยอมให้ไทยมีสิทธิชำระคดีใด ๆ ที่ชาวฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศสเป็นโจทย์จำเลยจะต้องมาขึ้นกับศาลไทย แต่กงสุลฝรั่งเศสยังมีอำนาจเรียกคดีจากศาลไทยไปพิจารณาได้ด้วย
ในระหว่างที่ไทยกำลังปราบฮ่ออยู่นั้นเป็นระยะเดียวกันกับที่ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษกำลังแสวงหาอาณานิคมในแถบเอเชีย และฝรั่งเศสสามารถเข้ายึดครองลาวและเขมรไว้เป็นเมืองขึ้นได้ จึงได้พยายามรุกล้ำเข้ามายังประเทศไทย
ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ฝรั่งเศสได้รุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยหลายจุด โดยใช้ทหารอาสาสมัครญวนและเขมรเป็นส่วนใหญ่ เช่นที่เมืองพ้องเมืองสองคอน ตลอดจนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้บังคับบัญชาให้ทหารญวนและเขมร เข้ายึดเมืองโขง (สีทันดร) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นที่มั่น เพื่อสะดวกในการยึดครองเมืองอื่น ๆ ทางเหนือของลำน้ำโขงต่อไป
หลังจากฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองและตำบลต่าง ๆ หลายแห่ง ฝ่ายไทยมิได้ต่อสู้ต้านทานอย่างจริงจัง เพราะกำลังน้อยกว่า ยกเว้นเมืองพ้องได้ต่อต้านแข็งแรงกว่าที่อื่น ๆ ในที่สุดได้เผาหมู่บ้าน แล้วล่าถอยไปตามลำแม่น้ำโขงเตรียมการตั้งรับทางฝั่งขวา
ฝรั่งเศสได้บังคับให้ไทยถอนกำลังออกจากเมืองคำเกิด คำม่วน ตลอดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งมีค่ายทหารตั้งอยู่ พระยอดเมีองขวางซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ยินยอม จึงเกิดสูรบขึ้น ฝ่ายฝรั่งเศสได้จับตัวพระยอดไว้ ต่อมาเมื่อฝ่ายไทยยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว ในอนุสัญญาข้อ ๓ ไทยจะต้องพิพากษาลงโทษพระยอดเมืองขวาง โดยศาลผสมระหว่างไทยและฝรั่งเศส พระยอดจึงถูกจำคุกอยู่ ๔ ปี คนไทยสมัยนั้นเทิดทูนยกย่องคุณความดีของพระยอดในฐานะผู้รักชาติ ซึ่งยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อชาติ
หลังจากเกิดการรบพุ่งกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสบริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว ฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบ ๒ ลำ เข้ามาในประเทศไทย คือเรือแองคองสตังต์ และเรือโคเมต จึงเกิดสู้รบกันขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒)
ฝ่ายไทยมีสถานีรบที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและใช้เรือรบป้องกันที่ปากน้ำ ๕ ลำ เช่น เรือมกุฎราชกุมาร เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เมื่อเกิดการสู้รบกันแล้ว ต่างฝ่ายต่างได้รับความเสียหาย และเกรงจะเกิดเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โต จึงหยุดทำการรบเพื่อตกลงกันทางการทูตต่อไป
ต่อมาเมื่อถึงวันที่ ๑๘-๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ รัฐสภาฝรั่งเศสได้ประชุมกันและยื่นคำขาดแก่รัฐบาลไทยให้ไทยยกฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส ฝ่ายไทยและฝรั่งเศสได้มีหนังสือตอบโต้กันหลายครั้ง ในทีสุดเพื่อให้ประเทศชาติปลอดภัยและประชาชนชาวไทยอยู่อย่างเป็นสุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงยินยอมยกดินแดนแห่งนี้ให้ฝรั่งเศสและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศส โดยในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสได้นำหนังสือยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ กับรัฐบาลฝรั่งเศส และได้เซ็นสัญญาสงบศึกในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยอนุสัญญาข้อ ๖ รัฐบาลฝรั่งเศสจะยึดครองจันทบุรีไว้จนกว่ารัฐบาลไทยจะได้ปฏิบัติตามสัญญา
รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยึดครองเมืองจันทบุรีตั้งแต่ ๓ ตุลาคม ๒๔๓๖ - ๘ มกราคม ๒๔๔๗ เป็นเวลา ๑๐ ปี จึงยอมคืนดินแดนนี้ให้ไทย แต่ฝรั่งเศสได้ยึดเมืองตราดแทน
หลังจากที่ไทยได้ทำสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเสียเงินเป็นจำนวนมากให้แก่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๓๖ และฝรั่งเศสได้ยึดจันทบุรีไว้โดยอ้างว่าเมื่อไทยได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้วจะคืนให้ ไทยได้รีบปฏิบัติตามสัญญาอย่างครบถ้วนแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมคืนจันทบุรีให้จนเวลาล่วงมาถึง ๑๐ ปี ฝรั่งเศสจึงได้ถอนทหารออกจากจันทบุรีหมด เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ โดยฝรั่งเศสย้ายไปยึดเมืองตราดแทน
เพื่อให้ได้เมืองตราดกลับคืนมาเป็นของไทย ไทยต้องทำสัญญากับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง จึงได้นำธงชาติไทย (ธงช้าง) กลับมายังเมืองไทย พร้อมกับอพยพครอบครัวมาด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองปราจีนบุรีจนกระทั่งอสัญกรรม
ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้ต่างประเทศหลายครั้ง โดยเฉพาะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ซึ่งเสียดินแดนให้อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก
จากการคุกคามของฝรั่งเศสในระยะแรก ๆ ทำให้อังกฤษซึ่งมีผลประโยชน์อยู่ในประเทศไทยมากมาย เกรงจะเกิดความเสียหายขึ้นจึงได้เจรจาทำความตกลงกับฝรั่งเศสและได้ทำสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ให้ประเทศไทยเป็นดินแดนกันชนระหว่างอาณานิคมของทั้งสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งฝรั่งเศสครอบครองอยู่ทางด้านตะวันออก และอังกฤษครอบครองด้านตะวันตก โดยทั้งสองประเทศให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่แสวงหาผลประโยชน์ผูกขาดในประเทศไทย
สนธิสัญญาฉบับนี้ให้ประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะเป็นการประกันเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย ที่จะไม่ถูกมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ายึดครอง
--------------------------------------------------------------------------------
เหตุแห่งการสละ นครวัด
คอลัมน์: คัมภีร์จากแผ่นดิน
โดย: บาราย (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2549) หัวเมืองประเทศราชของไทยสมัยโบราณ ท้าวพระยาหรือเจ้านายของชนชาตินั้นๆ มักเป็นผู้ปกครองตามจารีตประเพณี กำหนดเวลาสามปีครึ่งก็จะต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการมาถวาย หากขาดไปพระเจ้าแผ่นดินไทยก็จะทรงแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางออกไปปกครอง
ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงเห็นว่าเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ดูแลเขมรได้เรียบร้อยอยู่มาก จึงทรงขอเมืองพระตะบองและเมืองเสียมราฐเป็นบำเหน็จรางวัลครอบครอง และให้ขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยตรง
ประกอบกับสมเด็จพระนารายณ์ (นักองเอง) กษัตริย์เขมร ก็เห็นชอบ ยินดีถวายสองเมืองนี้ รวมทั้งนครวัด นครธม ให้ตามพระราชประสงค์
นับแต่วันนั้น เขมรจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน
ส่วนที่ขึ้นกับสยาม...มีหัวเมืองหลัก พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ โปริสารท และอุดงฤาชัย รวมเรียกว่า เขมรส่วนใน ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เป็นเจ้าเมือง
ส่วนที่เหลือ...ตั้งแต่พนมเปญไปจนจรดเขตแดนภาคตะวันออก ติดชายแดนญวน เรียกว่า เขมรส่วนนอก มีเจ้าเขมรปกครอง
การปกครองแบบนี้ เดิมทีเรียกว่า การกินเมือง มีลักษณะพิเศษ ถึงแม้จะโปรดให้ปกครองกันเองตามประเพณีเขมร แต่ท่านเจ้าพระยาสามารถเก็บภาษีอากร ใช้จ่ายในการปกครองได้ตามลำพัง
ตำแหน่งเจ้าเมืองพระตะบอง ศูนย์กลางการปกครองเขมรส่วนใน จึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของลูกหลานเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ต้นสกุลอภัยวงศ์ ตลอดมา
รวมเวลา 112 ปี (ค.ศ. 1794-1906) นับแต่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เจ้าเมืองคนที่ 1 จนไปถึงเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) เป็นเจ้าเมืองคนที่ 8 คนสุดท้าย...ก่อนคืนดินแดนให้ฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1906
ไกรฤกษ์ นานา เขียนเรื่อง วารสารนักล่าอาณานิคม ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ 5 ทำไมสยามสละนครวัด ไว้ในศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนกันยายน ว่า
นับแต่เซอร์จอห์น เบาริ่ง ทำสัญญาเบาริ่งกับสยาม เมื่อ ค.ศ. 1855 อังกฤษขยับชิดสยามมากขึ้น ค.ศ. 1856 ฝรั่งเศสทนดูไม่ได้ ส่งทูตชื่อ มงติญี เข้าราชสำนักสยาม
แต่พุ่งเป้าไปหาราชสำนักเขมร ต้องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางไปจีนและทิเบต ต้องการความมั่งคั่งในทะเลสาบเขมร แหล่งจับปลาขนาดใหญ่ ต้องการป่าไม้ และแหล่งอัญมณีอันประเมินค่ามิได้
ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หลังฝรั่งเศสรบชนะญวน ยึดโคชินไชนา (ญวนใต้) สยามก็ได้เมืองมโนไพร ท่าราชปริวัตร พระตะบอง และเสียมราฐ รวมนครวัด
ราชอาณาจักรเขมรสมัยนั้น จึงเป็นเพียงรัฐกันชนระหว่างชาติทั้งสอง
สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เซ็นกันเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1856 รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามของฝรั่งเศสมากกว่าอังกฤษ ทรงแสวงหาหนทางป้องกันมิให้ฝรั่งเศสคุกคามสยาม ขณะต้องทรงพะว้าพะวัง กีดขวางไม่ให้เขมรคบฝรั่งเศส
สิ้นสมเด็จพระหริรักษ์ ปี ค.ศ. 1860 รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้พระนโรดม ผู้เติบโตในกรุงเทพฯ ออกไปครองเมืองเขมร พระราชทานนามว่า สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์
ฝรั่งเศสได้จังหวะขอเข้าเฝ้ากษัตริย์เขมรองค์ใหม่ แย้มผลประโยชน์ที่เขมรจะได้ถ้าทำสัญญากับฝรั่งเศส ค.๕. 1863 สมเด็จพระนโรดมทรงยอมทำสัญญาอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส ขณะเดียวกันก็ทรงส่งพระราชสาส์นมากราบทูลว่า ทรงถูกแม่ทัพฝรั่งเศสบีบบังคับ
รัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะรักษาฐานะเจ้าอธิราชอันชอบธรรมของพระองค์ไว้ เพื่อผูกมัดราชสำนักเขมรไว้กับสยามต่อไป จึงทรงทำสัญญาลับกับเขมรฉบับหนึ่ง เมื่อ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1863 สัญญาฉบับนั้น สยามอ้างสิทธิในการประกอบพิธีราชาภิเษกกษัตริย์เขมร ขณะนั้นพระนโรดมยังไม่ได้รับการราชาภิเษก
แต่ฝรั่งเศสก็ขัดขวาง จนไทยต้องยอมให้พระนโรดมทำพิธีราชาภิเษกได้ที่เมืองอุดงมีชัย
บรรยากาศของการเล่นชั้นเอาเชิงระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส เดินหน้าต่อไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ผลจากอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 ฝรั่งเศสยอมถอนทหารจากจันทบุรี แต่มีข้อแม้ยังตั้งค่ายใหม่ไว้ที่ตราด ทำให้ไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ในขณะที่ฝรั่งเศสก็เพิ่มความตั้งใจครอบครองเขมรส่วนที่เหลือ กดดันให้สยามผ่อนปรนอภิสิทธิ์เหนือพระตะบอง เสียมราฐ พยายามทุกวิถีทางที่จะยกเลิกเอกสิทธิ์พิเศษของขุนนางตระกูลอภัยวงศ์
ไกรฤกษ์ นานา ขึ้นต้นข้อเขียนเรื่องนี้ไว้ว่า...เมื่อ 100 ปีมาแล้ว วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) สยามและฝรั่งเศสตกลงทำสัญญาฉบับหนึ่งร่วมกัน ใจความสำคัญมีผลให้สยามได้จังหวัดตราดคืน
ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2449 สัญญานี้ได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภาฝรั่งเศส 6 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ทางการสองฝ่ายจึงรับและส่งคืนดินแดนให้แก่กันและกัน เป็นทางการ
นครวัด ซึ่งอยู่ ณ เมืองเสียมราฐ ก็หลุดลอยจากไทยไปในคราวนี้เอง
--------------------------------------------------------------------------------
ศิลปวัฒนธรรม วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 11
เรื่องจากปก โดย: ไกรฤกษ์ นานา
ค้นปารีส หาความจริง
เมื่อ "ธงช้าง" ร.๕ เสด็จประพาสยุโรป กลายเป็นเรื่อง "กลับตาลปัตร"
ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรปในกลางเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ มีจดหมายฉบับหนึ่งส่งตามออกไปจากกรุงเทพฯ จ่าหน้าถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนโดยที่ปรึกษาราชการชาวเบลเยียมผู้หนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา (ม.โรแลง แชเกอแมง) มีสาระสะกิดใจตอนหนึ่งในท้ายจดหมายว่า
"ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเตือนให้ทรงทราบว่า ถึงแม้ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเข้าทางเรา กล่าวคือความสำเร็จดูใกล้จะเป็นความจริงตามความมุ่งหมายของการเสด็จก็ตาม แต่กระนั้นก็ขอให้ทรงเผื่อพระทัยไว้หน่อยหนึ่งว่าสถานการณ์ยังพลิกผันได้อีก และความไม่แน่นอนยังเป็นสิ่งที่แน่นอนในเวลานี้ ขออย่าได้วางพระทัยนัก"(๕)
เรื่องที่ผิดคาดซึ่งมีทั้งความสำเร็จและความผิดหวังในการเจรจาทางการเมืองตลอดจนความตื่นตาตื่นใจของการรับเสด็จผ่านเข้ามาให้เห็นเป็นระยะๆ ดังที่เจ้าพระยาอภัยราชาเตือนไว้ พิธีรับเสด็จครั้งหนึ่งในปารีส พลิกความคาดหมายของพระราชอาคันตุกะจากสยามอย่างถล่มทลาย กล่าวคือผลการแทรกแซงของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียทำให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเปลี่ยนใจและรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยความเรียบร้อยและดีเกินคาด ทว่ามันอาจจะเป็นแค่ภาพลวงตาเท่านั้น ดังเช่นเหตุการณ์หนึ่งที่รัชกาลที่ ๕ ทรงประสบด้วยพระองค์เอง ณ โบสถ์เซ็นต์หลุยส์กลางกรุงปารีส เป็นอุทาหรณ์หนึ่งที่แสดงว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่ได้รับเสด็จด้วยความจริงใจเลย เพราะมีความบาดหมางใจซ่อนอยู่เป็นทุนเดิม และจะได้พบต่อไปข้างหน้า
ชาวฝรั่งเศสดูเหมือนจะคุ้นเคยกับธงชาติของประเทศต่างๆ จากการที่เคยติดต่อกับชาวต่างชาติมาช้านาน ทำให้มีหลักฐานเก่าๆ ที่น่าสนใจอยู่เป็นอันมาก ผลพวงนี้ชี้เบาะแสที่เราไม่ทราบมาก่อนว่า "ธงชาติ" เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง "ให้ความสำคัญ" มาตั้งแต่แรกเสวยราชย์ หลักฐานชิ้นหนึ่งพบอยู่ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส อายุ ๑๓๕ ปี ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากข่าวที่ลงในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๑๘๗๐ (พ.ศ. ๒๔๑๓) แสดงภาพในงานฉลองบรมราชาภิเษกครั้งแรก ในรัชกาลที่ ๕ ก็ยังเน้นให้เห็นปะรำพิธีที่ตกแต่งด้วยธงช้างโดยรอบเป็นจำนวนมาก (ดูภาพประกอบ) ภาพประวัติศาสตร์ดังกล่าวบ่งบอกความสำคัญของธงช้างที่จะมีต่อไปจนตลอดรัชกาลนี้(๘)
"ธงช้าง" ของสยามได้รับการเผยแพร่ในต่างประเทศมากที่สุดในวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่เรียกเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เวลานั้นรัฐบาลฝรั่งเศสขู่ว่าจะส่งเรือรบเข้ามาจากไซ่ง่อนเพื่อบีบบังคับให้สยามรับเงื่อนไขของฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนล้านช้างบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือ สปป.ลาว) ซึ่งฝรั่งเศสอ้างว่าเป็นเขตแดนซึ่งอยู่ในครอบครองของญวนแต่เดิม เมื่อญวนตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็ควรจะตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย ฝ่ายไทยไม่ยอมจึงเกิดการสู้รบกันขึ้น เริ่มที่เมืองคำม่วน ต่อมาในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖ เรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำ ก็บุกเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยาจริงๆ จึงเกิดการยิงปะทะกัน และบานปลายเป็นข้อพิพาทใหญ่โตในที่สุด "ธงช้าง" ซึ่งเป็นธงประจำชาติสยามได้ถูกนำออกสู่สายตาชาวฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง เป็นการบอกสัญญาณว่า ฝรั่งเศสกำลังต่อสู้อยู่กับประเทศสยาม ในเหตุการณ์นั้นฝ่ายสยามถูกปรักปรำให้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนเงินมหาศาลถึง ๓ ล้านฟรังก์(๑)
หลังจากนั้นเพียง ๔ ปี ธงช้างก็เดินทางไปถึงฝรั่งเศสพร้อมๆ กับประมุขของสยาม แต่ในอีกสถานภาพหนึ่ง คือสถานะของมิตรหรือความพยายามที่จะเป็นมิตรก็ตามแต่ ระหว่างการเสด็จประพาสฝรั่งเศสครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ คราวนี้ธงช้างปลิวไสวไปทั่วทุกหนแห่งที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึง
ภาพลักษณ์ของสยามประเทศในการเสด็จประพาสยุโรปนั้นคงไม่มีสิ่งใดสะดุดตาไปกว่าธงช้าง ภาพของช้างเผือกบนผืนผ้าสีแดงสด มีความโดดเด่นอยู่ในตัว สร้างความสนใจให้ชาวยุโรปไม่น้อย จึงเป็นเอกลักษณ์พิเศษควบคู่ไปกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดทางรัฐบาลต่างประเทศต่างตระเตรียมตกแต่งสถานที่ต่างๆ ด้วยธงชาติอย่างทั่วถึง และเป็นที่สันนิษฐานว่า "ธงช้าง" จำนวนไม่น้อยถูกผลิตขึ้นเองโดยทางการของประเทศนั้นๆ เห็นได้จากขนาดของธงที่ไม่ได้มาตรฐานในแต่ละประเทศ และรูปร่างของช้างที่ผิดเพี้ยนกันไปอย่างเห็นได้ชัด ความพยายามในการจัดหาธงช้างมาติดตั้งไว้ก็เพื่อสื่อความหมายของรัฐชาติที่เป็นเอกราช เป็นการประดับพระเกียรติยศของประมุขแห่งธงชาตินั้นเป็นประเด็นสำคัญ มากกว่ารายละเอียดปลีกย่อยของรูปในธงนั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภในพระราชหัตถเลขาถึงพระบรมราชินีเรื่องธงช้างจากประเทศอิตาลี ดังนี้
"โฮเตลที่มาอยู่มี ๒ หลัง เขาใช้ธงอิตาเลียนปักหลังหนึ่ง ธงช้างปักอีกหลังหนึ่ง อยู่ตรงเรือจอดทีเดียว" (พระราชหัตถเลขาฯ ๑๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๖, เวนิส)
นอกจากนั้นข้อมูลเกี่ยวกับธงช้างทั้งหมดจะไปปรากฏอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป บันทึกโดยพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยะศิริ) ดังนี้
"ตัวรถไฟข้างหน้ารถที่หน้าหม้อน้ำ จัดทำเป็นรูปตราช้างข้างหนึ่ง กากะบาดขาวข้างหนึ่ง ส่วนรถพระที่นั่งก็มีธงช้าง แลธงของสวิตเซอร์แลนด์ปักคู่กันเป็นระยะ [กรุงเจนีวา]...เหนือถนนมีเชือกเส้นหนึ่งยาวผูกธงพาดข้างบนขวางถนนมีธงช้างใหญ่อยู่กลาง สถานที่ราชการทั้ง ๒ ฟากทางก็ตกแต่งประดับด้วยผ้าสีและธงช้างกับใบไม้ต่างๆ [กรุงเบิร์น]...เจ้าพนักงานได้จัดตกแต่งพลับพลาประดับด้วยธงช้างสยาม แลธงของชาติสวิสไขว้กัน [กรุงเบิร์น]...ที่สเตชั่นตกแต่งผูกธงไขว้ธงช้างกับธงกางเขนของชาติสวิตเซอร์แลนด์ประดับเป็นคู่ๆ ตามหว่างธงมีดอกไม้ใบไม้ประดับงดงาม [บนภูเขายุงเฟรา]...ที่ฮังการี ทางการใช้เต้นท์อย่างกำมะหยี่สีแสดริมขลิบทองเป็นพลับพลาตั้งอยู่ในที่สนามหญ้า มีธงช้างและธงของฮังการีปักหลายคู่ [กรุงบูดาเปสต์]...อนึ่งที่สเตชั่นรถไฟเมืองวอซอร์และเมืองเปโตรคอฟนั้นตกแต่งด้วยใบไม้ดอกไม้ ธงช้างและธงรัสเซียประดับเรียงรายงดงาม ตามทางแต่ละสเตชั่นรถไฟมาถึงพระราชวังปิเตอร์ฮอฟมีพลตระเวนรายทาง บ้านเรือน แลตามสองฟากถนนมีธงช้างและธงสีต่างๆ ตกแต่งตลอด [รัสเซีย]...ที่ป้อมจัดตกแต่งประดับด้วยธงช้างแลธงฝรั่งเศสคละกันแลดูไสว [กรุงปารีส]...บรรดาเรือในอ่าวชักธงต่างๆ มีธงช้างเป็นสำคัญถวายพระเกียรติยศ [ท่าเรือ Le Havre]...ท้องถนนตกแต่งด้วยธงช้างตลอดทางโดยประณีต [กรุงมาดริด]...ที่สเตชั่นเจ้าพนักงานจัดการตกแต่งธงช้างแลใบไม้งดงาม [นครนิวคาสเซิล]...จุดดอกไม้เพลิงถวายทอดพระเนตร ชุดที่งามมากคือรูปช้างเดิน [เมืองแซกโซนี]...ตัวกระโจมผ้าแลตึกที่เป็นสเตชั่นรถไฟ ตกแต่งด้วยธงช้างแลธงตราเมืองแฮมเบิร์ค"(๔)
กล่าวได้ว่าธงช้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสยามประเทศ เป็นภาพพจน์ที่อยู่คู่กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดเวลาในทวีปยุโรป
ทว่าธงช้าง "ผืนหนึ่ง" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบเข้าโดยบังเอิญในกรุงปารีส จะบอกเล่าเรื่องราวที่เราไม่คาดคิดมาก่อน! เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๔๐ วันนั้นเป็นวันที่เสด็จไปรอบกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น หอไอเฟล พระราชวังแวร์ซายส์ และแองวาลิด (Les Invalides) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลทหารสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ใช้เป็นที่พักรักษาตัวของทหารฝรั่งเศสที่ชราหรือทุพพลภาพ แล้วยังเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารที่จัดแสดงอาวุธโบราณ แต่ที่สำคัญเป็นที่ฝังพระศพของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งผู้นำจากต่างประเทศถือเป็นประเพณีที่นำพวงมาลามาวางเพื่อเป็นเกียรติเสมอ
รายละเอียดของการเสด็จไปเยือน "แองวาลิด" ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจมาก เพราะจะเผยโฉมธงช้างเจ้าปัญหาผืนหนึ่งที่กองทัพฝรั่งเศสได้ไว้ในครอบครอง และมิได้มีจุดประสงค์ที่ติดไว้ ณ ที่นั้นเพื่อรับเสด็จรัชกาลที่ ๕ แต่อย่างใด สร้างความประหลาดใจต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับออกพระโอษฐ์ถามถึงที่มาของธงนั้น แต่ด้วยเหตุผลบางประการเรื่องราวของธงช้างผืนนั้นกลับไม่ได้รับการเปิดเผยแม้แต่น้อยในบันทึกของฝ่ายไทย และกลายเป็นเรื่องลึกลับที่ไม่มีใครพูดถึงอีกเลยนับแต่นั้น คำบรรยายที่เกี่ยวกับการเสด็จไปเยือนแองวาลิดกระจายอยู่ในจดหมายเหตุ ๓ ฉบับ ที่ใช้สำนวนแตกต่างกัน แต่จะมีฉบับภาษาฝรั่งเศสเท่านั้นที่ระบุถึงเรื่องธงช้างเจ้ากรรมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไว้มิให้สูญหายไป ขอนำคำให้การจากทั้ง ๓ สำนวนมาเปรียบเทียบให้พิจารณาดังต่อไปนี้
ในสำนวนแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงพระบรมราชินีนาถว่า
"ไปโฮเตลอินวาลิด เปนที่ทหารแก่ๆ อยู่ มีที่ฝังศพเอมเปอเรอนโปเลียนโบนาปาตอยู่ด้วย พวกตาแก่ทหารแกงุ่มง่ามเหลือทน จะเดินดูอะไรต้องย่องกึกๆ ฝีตีนเท่ากับแก มีเครื่องอาวุธโบราณมาก แต่ที่ฉันชอบมากนั้น เห็นเกราะพระเจ้ากรุงจีนซึ่ง [ฝรั่งเศส] ไปตีมาได้จากเมืองปักกิ่ง ไม่เหมือนเกราะงิ้ว ทั้งหมวกที่ใส่รูปเปนฝาชีปิดขันน้ำ มีไพทูรย์เม็ดใหญ่และไข่มุกประดับ"(๓)
จากสำนวนแรกนี้เห็นได้ว่าประเด็นเรื่องธงช้างซึ่งพระองค์ก็เสด็จผ่านไปทอดพระเนตรเช่นกัน ถูกตัดออกไปเสียเฉยๆ และเนื่องจากเรื่องนี้ยังไม่มีการสอบสวนมาก่อน ทำให้คนเชื่อว่าธงช้างที่แขวนอยู่ในแองวาลิดเกี่ยวข้องกับการเสด็จประพาสปารีสในรัชกาลที่ ๕ เพราะมันแขวนอยู่ที่นั่น เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จไปเยือน โดยไม่มีใครติดใจสงสัยว่าธงช้างมิได้แขวนอยู่โดดๆ เพื่อต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากแต่แขวนรวมๆ อยู่กับธงจีนและธงชาติอื่นๆ อีกหลายสิบผืน มันอาจจะมีความหมายมากกว่าธงรับเสด็จทั่วๆ ไปก็ได้
ในสำนวนที่ ๒ ซึ่งให้รายละเอียดมากขึ้นไปอีก รวมถึงพระราชดำรัสที่ถามถึงธงเหล่านั้นด้วยความสนพระทัยก็มีอยู่ด้วยอย่างครบถ้วน พระราชดำรัสตอนนี้สำคัญมาก เพราะมีส่วนทำให้การตรวจสอบเรื่องนี้เกิดขึ้น นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ Le Journal illustre คนหนึ่งติดตามขบวนเสด็จไปตามที่ต่างๆ รายงานไว้ว่า
"พระเจ้ากรุงสยามเสด็จมาถึงแองวาลิดตอน ๑๐ โมงเช้า ทรงได้รับการต้อนรับจากนายพลอาร์โน จากนั้นทรงถูกนำเข้าไปยังที่ฝังพระศพนโปเลียนที่ ๑ ข้าราชการฝ่ายสยามติดตามเข้าไปด้วย แต่เฉพาะพระองค์ที่ทรงเข้าไปจนใกล้ที่เก็บพระบรมศพ ทรงยืนสงบนิ่งไว้อาลัย ๑ นาที แล้วจึงเสด็จออกมาจากหอพระศพ ตรัสว่า "ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน" นายพลอาร์โนนำพระองค์ต่อไปยังโบสถ์เซ็นต์หลุยส์ ซึ่งอยู่ติดกับหอพระศพ ที่นั่นทอดพระเนตรธงชาติต่างๆ ที่แขวนอยู่เหนือผนังขึ้นไป ล้วนเป็นธงชาติที่ฝรั่งเศสยึดมาได้จากพวกศัตรู ทันใดนั้นมีพระราชดำรัสถามว่า "ไปได้ธงจีนกับธงช้างมาจากไหน?" หลังจากนั้นจึงเสด็จเลยไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์อาวุธโบราณซึ่งทรงให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษ จากนั้นจึงเสด็จออกไปที่ลานหน้าโบสถ์ ณ บริเวณนั้นมีกองดุริยางค์และกองทหารผู้ชราภาพราว ๑๕๐ นาย ถวายความเคารพและบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี"(๗)
จากสำนวนที่ ๒ นี้ มีคำยืนยันว่า...รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จไปทอดพระเนตรธงชาติที่ประดับแขวนไว้ภายในโบสถ์เซ็นต์หลุยส์ ซึ่งอยู่ในบริเวณแองวาลิดจริง ในเวลานั้นธงช้างก็แขวนอยู่ใกล้กับธงจีนและอยู่ต่อมาในตำแหน่งเดิมจนบัดนี้ (ดูภาพประกอบ) ทรงให้ความสนพระทัยกับธงเหล่านั้นขนาดที่ตรัสถามว่า "ไปได้มาจากไหน?" คำตอบที่ได้รับไม่ได้บอกไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ แต่ยังมีข้อมูลในหนังสือพงศาวดารฝรั่งเศสอีกเล่มหนึ่ง เผยความจริงเกี่ยวกับที่มาของธงชาติ ณ ที่แห่งนั้นไว้โดยสังเขปว่า
"ตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นต้นมา กองทัพฝรั่งเศสสามารถนำธงชาติของฝ่ายศัตรูที่พ่ายแพ้ในการสู้รบกับเรากลับมาได้ไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ผืน ธงทั้งหมดถูกนำมาเก็บรักษาไว้ครั้งแรกที่โบสถ์โนเทรอดาม ปารีส จนกระทั่งในปี ค.ศ. ๑๗๙๓ [พ.ศ. ๒๓๓๖] ธงทั้งหมดก็ถูกย้ายมาเก็บไว้ที่แองวาลิดแทน แองวาลิดได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของฝรั่งเศส จึงเหมาะสมที่จะเป็นบ้านหลังใหม่ของอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหล่านั้น ธงที่ระลึกจากสงครามถูกนำเข้ามาเพิ่มเติมอีกในยุคนโปเลียนที่ ๑ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๒๔ [พ.ศ. ๒๓๖๗] ภายหลังนโปเลียนแพ้ในสงครามวอเตอร์ลูกับอังกฤษ และทัพศัตรู [อังกฤษ] เคลื่อนพลเข้ามาประชิดกรุงปารีส เวลานั้นยังพอมีธงเหลือยู่ถึง ๑,๔๑๗ ผืน ธงทั้งหมดก็ยังแขวนอยู่ภายในโบสถ์เซ็นต์หลุยส์ นายพลเซรูริเยร์ ผู้อำนวยการแองวาลิด เกรงว่าธงแห่งชัยชนะทั้งหลายจะตกไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม จึงมีคำสั่งให้ปลดลงมาเผาทิ้งเสียก่อนที่ลานหน้าโบสถ์ ธงที่เหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ในเวลานี้ล้วนเป็นธงชาติที่ได้มาจากการสู้รบในสมัยหลัง กล่าวคือ ภายหลังยุคนโปเลียนที่ ๑ แล้ว ซึ่งก็ยังมีธงมากถึง ๑๐๔ ผืน"(๖)
ถึงตอนนี้จึงพอสันนิษฐานเพิ่มเติมได้อีกว่า ธงชาติที่มีพระราชดำรัสถึง และยังแขวนติดอยู่ในตัวโบสถ์ มีธงจีนเป็นต้น ก็ได้มาจากการสู้รบของกองทัพฝรั่งเศสเมื่อเข้ายึดกรุงปักกิ่งได้สำเร็จ ในปี ค.ศ. ๑๘๖๐ (พ.ศ. ๒๔๐๓) ส่วนธงช้างนั้นอาจจะถูกนำมาจากสยาม ภายหลังการสู้รบในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) จากเมืองคำม่วน หลวงพระบาง หรือจากเมืองใดเมืองหนึ่งบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมื่อทหารไทยจำต้องล่าถอยออกมา
นอกจากคำอธิบายที่พบแล้ว ยังมีสำนวนที่ ๓ ซึ่งพระยาศรีสหเทพบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ตรงกับสำนวนของฝรั่งเศสเช่นกัน และจะเป็นสำนวนสุดท้ายที่ทำให้เราจำนนต่อเหตุผลแวดล้อมทั้งหมด ท่านเขียนไว้ว่า
"วันที่ ๑๒ กันยายน ร.ศ. ๑๑๖ เวลาเช้า ๔ โมงเสศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องครึ่งยศประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงษ์ เสด็จฯ จากบ้านที่ประทับมายังอังวะลีดส์ ซึ่งเปนโรงพยาบาลทหารพิการทุพลภาพ แลที่ฝังศพนะโปเลียนที่ ๑...ทรงยืนกุมพระหัตถ์แสดงความเคารพตามสมควรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินวัดสังต์ หลุย (St.Louis) ซึ่งเปนวัดต่อหลังที่ฝังศพออกไป ผนังวัดประดับด้วยธงต่างๆ ซึ่งกองทัพฝรั่งเศสมีไชยชะนะแย่งมาได้ในที่รบต่างๆ น่าดู ทรงพระดำเนินต่อไปทางหน้าโบถ"(๔)
จะอย่างไรก็ตามธงช้างที่กรุงปารีสยังนับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสยามประเทศที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าไปใกล้ชิดด้วยมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ถึงแม้มันจะมีความหมายหลายอย่างแฝงอยู่ด้วยก็ตาม อาจเป็นเพราะมันแขวนอยู่ที่นั่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึง แต่แท้ที่จริงมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับเสด็จวันนั้นเลย
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตจากทวีปยุโรปครั้งนั้นแล้วอีก ๒๐ ปี กล่าวคือใน พ.ศ. ๒๔๖๐ สมัยต้นรัชกาลที่ ๖ ประเทศสยามก็ยกเลิก "ธงช้าง" เป็นธงประจำชาติเป็นการถาวร การเปลี่ยนธงชาติครั้งนี้ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ซึ่งรับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาท (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในขณะนั้น ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาติว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะเปลี่ยน "ธงช้าง" เป็น "ธงแถบสี" เพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อธงผ้าพิมพ์รูปช้างเข้ามาจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้นเป็นที่น่าละอาย หากเปลี่ยนเป็นธงแถบสี ราษฎรสามารถทำธงใช้เองได้ และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาดที่เคยมีมา(๒)
ธงช้างที่ค้นพบในแองวาลิด เป็นธงชาติของสยามสมัยรัชกาลที่ ๕ เพียงผืนเดียวที่พลัดพรากอยู่นอกแผ่นดินไทย เป็นชิ้นส่วนของหลักฐานสำคัญในพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ ที่พบว่ายังมีอยู่จริง จนทุกวันนี้ ปัจจุบันถูกทอดทิ้งไว้โดดเดี่ยว ไร้ความหมาย เป็นที่เวทนาต่อผู้พบเห็น
เอกสารประกอบการค้นคว้า
(๑) ไกรฤกษ์ นานา. พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗.
(๒) ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรมศิลปากร, ๒๕๒๐.
(๓) พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖). กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, ๒๕๓๕.
(๔) ศรีสหเทพ, พระยา (เส็ง วิริยะศิริ). จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๑๖ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๔๐.
(๕) Tips, Walter E.J. Gustave Rolin-Jaequemyns and the making of modern Siam : the diaries and letters of King Chulalongkorn"s general adviser. White Lotus co., ltd., 1996.
(๖) Revue Encyclopedique. Paris, 1897.
(๗) หนังสือพิมพ์ Le Journal illustre. Paris, 26 Septembre 1897.
(๘) หนังสือพิมพ์ Le Monde Illustre. Paris, 11 Juine 1870.
--------------------------------------------------------------------------------
ความรู้เรื่องศักราชที่ใช้ในหนังสือไทย
หนังสือไทยโบราณทั้งหลาย เช่น หนังสือพงศาวดาร ประกาศกฏหมายเก่า หรือ ตำราต่างๆ ฯลฯ มักลงศักราช ไว้ต่างๆ กัน สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อจะลงศักราชบอกเวลาเป็นปี นิยมใช้ "จุลศักราช" หนังสือที่ตึพิมพ์ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๑ หรือในตอนกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น หนังสือราชการ ตำราและ แบบเรียน ฯลฯ ใช้ " รัตนโกสินทรศก " แทน "จุลศักราช" ทั้งสิ้น แต่การลงศักราชเป็น"รัตนโกสินทรศก" นั้น กระทำอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะปรากฏว่าตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๕ เป็นต้นมา หนังสือราชการและสิ่งพิมพ์ต่างๆ หันมาใช้ "พุทธศักราช" แทน "รัตนโกสินทรศก" ตราบจนทุกวันนี้ ประโยชน์ของการเปรียบเทียบศักราชเป็นสิ่งควรจำสำหรับใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าตำราเก่า
ศักราชเท่าที่ปรากฏในหนังสือไทยโบราณ มีด้วยกัน ๕ ชนิดคือ
๑. มหาศักราช
๒. จุลศักราช
๓. ศักราชจุฬามณี (ศักราชกฏหมาย)
๔. รัตนโกสินทรศก
๕. พุทธศักราช
มหาศักราช มีกำหนดแรกบัญญัติ นับแต่วันพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ๖๒๑ ปี เป็นศักราชที่แพร่หลายเข้ามาใช้ในเมืองไทยก่อนศักราชอื่น ประมาณว่าตั้งแต่เริ่มมีการจารึกหนังสือไทย ใช้มหาศักราชเป็นส่วนใหญ่
จุลศักราช เป็นศักราชที่ตั้งขึ้น และใช้ในเมืองพม่ามาแต่ก่อน ต่อมาได้แพร่หลายเข้ามาใช้ในราชการตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา (๒๑๑๒- ๒๑๓๓) ซึ่งขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาติดต่อเกี่ยวกับเมืองหงสาวดีในฐานะเป็นเมืองประเทศราชอยู่ถึง ๑๕ ปีเนื่องจากเสียกรุงแก่พม่าครั้งแรก
ความเป็นมาของ จุลศักราช มีว่า "สังฆราชบุตุโสระหัน" เมื่อสึกจากสมณเพศได้ชิงราชสมบัติเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๑๙ ในราชวงศ์สมุทฤทธิ์ในประเทศพุกาม ได้บัญญัติจุลศักราชขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๑๘๒ (กำหนดแรกบัญญัติตั้งแต่วันพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ๑๑๘๑ ปี) และต่อมาก็เลิกใช้ เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจุลศักราช ๑๒๕๐ ได้มี "ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่" ว่า :
" มีพะบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยทรงพระราชดำริห์ถึงวิธีนับวัน เดือน ที่ใช้กันอยู่ในสยามมณฑล และที่ใช้ในประเทศน้อยใหญ่เป็นอันมากในโลกนี้ เป็นวิธีต่างกันอยู่มากคือกล่าวโดยย่อก็เป็นวิธีใช้ตามจันทรคติอย่างหนึ่ง และสุริยคติอย่างหนึ่ง จึงทรงพระราชดำริห์ว่าวิธีนับวัน เดือน ปี อย่างดีที่สุดนั้น ควรจะประกอบด้วยเหตุอันควร ๓ ประการคือ (๑) ให้ถูกต้องใกล้ชิดกับฤดูกาล (๒) ให้มีประมาณอันเสมอไม่มากไม่น้อยไปกว่ากันนัก กับ (๓) ให้คนทั้งปวงรู้ง่ายทั่วไปดีกว่าอย่างอื่น ทั้ง ๓ ประการนี้ จึงจะสมควรที่จะใช้ในประชุมชนทั้งปวง …." ผลการประกาศฉบับนี้ ศักราชที่เคยใช้มาก่อนทั้งมวลเป็นอันงดใช้และให้ใช้" รัตนโกสินทรศก" เว้นแต่ในทางพระพุทธศาสนา คงใช้พุทธศักราชเท่านั้น
" รัตนโกสินทรศก" เป็นศักราชที่ใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ กำหนดแรกบัญญัติตั้งแต่ปีที่ตั้งกรุงเทพพระมหานครเป็นทางราชการ คือ ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ เพราะฉะนั้น รัตนโกสินทรศก ๑ ก็คือปีพุทธศักราชล่วงมาแล้ว ๒๓๒๔ ปีแต่รัตนโกสินทรศก ใช้กันอยู่ไม่นานนักก็เป็นอันเลิกใช้ใน ร.ศ.๑๓๑ เป็นต้นมา สิ่งพิมพ์ต่างๆ และหนังสือราชการก็หันมาลงศักราช เป็น"พุทธศักราช" ในมาตรฐานเดียวกัน
" พุทธศักราช " ซึ่งทางราชการไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีคติตั้งแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน โดยไทยถือตามมติของลังกาคือถือว่า ทรงปรินิพพาน๕๔๓ ปีก่อนคริสต์ศักราช แม้ว่าเราจะใช้พุทธศักราชกันมานานแล้ว แต่ทางราชการเพิ่งจะบังคับใช้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรมประกาศลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๓๑ ความว่า" ……ทรงพระราขดำริห์ว่าพระพุทธศักราชนั้นได้เคยใช้ในราชการทั่วไปไม่ถ้าจะให้ใช้พระพุทธศักราชแทนปีรัตนโกสินทรศกแล้ว ก็จะเป็นการสะดวกแก่การอดีตในพงศาวดารของกรุงสยามมากยิ่งขึ้นฯลฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระพุทธศักราชในราชการทั้งปวงทั่วไป ฯลฯ " หลังประกาศฉบับนี้ หนังสือไทยทุกประเภทจึงลงศักราช เป็นพุทธศักราชมาจนทุกวันนี้
" ศักราชจุฬามณี" เป็นคำระบุศักราชที่พบในตำราหนังสือไทยเก่าๆ ยังไม่มีผู้ใดสืบหลักฐานที่มาได้ เพียงแต่สอบได้ความว่าถ้าปรากฏศักราชชนิดนี้ในบานแผนกกฎหมายต้องใช้เกณฑ์เลข ๒๕๘ ลบ ผลลัพธ์ เป็นจุลศักราช
" คริสตศักราช " เป็นศักราชที่มีต้นกำเนิดและใช้ในหนังสือต่างประเทศ หนังสือไทยโบราณทุกสมัยก่อนๆ ไม่ปรากฏว่าได้เคยใช้ศักราชแบบนี้เลย
เกณฑ์ตัวเลขสำหรับการเปรียบเทียบศักราช เพื่อเป็นพุทธศักราช
๑. ถ้าพบว่าเป็น "มหาศักราช" ให้เอา ๖๒๑ บวก
๒. ถ้าพบว่าเป็น "จุลศักราช" ให้เอา ๑๑๘๑ บวก
๓. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชรัตนโกสินทร์" ให้เอา ๒๓๒๔ บวก
๔. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชจุฬามณี" หรือ " ศักราชกฏหมาย" ให้เอา ๒๕๘ ลบ ผลลัพธ์เป็นจุลศักราช แล้วจึงเปลี่ยน "จุลศักราช" เป็น พุทธศักราช
๕. ถ้าพบว่าเป็น " คริสตศักราช" ให้เอา ๕๔๓ บวก
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://b-eng.diaryis.com/2009/08/06
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น