วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ชำแหละ‘แก๊งเด็กขอทาน’!?! ‘ธุรกิจบาป’...ยิ่งปราบยิ่งเพิ่ม



“เด็กขอทาน”...

ประติมากรรมด้านมืดของสังคม ที่แสดงถึงความตกต่ำของจิตใจมนุษย์ในการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด เมื่อสังคมเริ่มตั้งคำถามต่อหน่วยงานภาครัฐในการจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาพของเด็กขอทานที่นั่งอยู่ตามข้างถนนก็บางตาลง แต่เมื่อใดที่สังคมละเลยประติมากรรมเหล่านั้นก็กลับมา

แม้ช่วงที่ผ่านมา จะมีการกวาดล้างกลุ่มแก๊ง และขบวนการหากินกับ “เด็กขอทาน” อยู่เป็นระยะๆ แต่ดูเหมือนว่าเด็กกลุ่มนี้จะมิได้ลดจำนวนลงไป ซ้ำร้าย “ขบวนการ” ที่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือใน “ธุรกิจบาป” ประเภทนี้กลับยังมี “พัฒนาการ” ขึ้นเรื่อยๆ

“ธุรกิจขอทานปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเกิดจากพ่อแม่เด็กบังคับให้ลูกมาขอทานเอง และเป็นเพราะเด็กถูกลักพาตัวมา ซึ่งเด็กอาจจะถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจดังกล่าว ถ้าสังคมยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ก็อาจจะมีเด็กถูกทารุณกรรมมากขึ้นจากธุรกิจบาปนี้ “วิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์” หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ให้ข้อมูล

วิธนะพัฒน์ ให้ข้อมูลต่อว่า จำนวน “เด็กขอทาน” มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคงหนีไม่พ้นปัญหา “ขบวนการค้ามนุษย์” ที่อาศัยเด็กขอทานเป็นเครื่องมือในการประกอบ “ธุรกิจบาป” ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำงานสามารถแยก “เด็กขอทาน” ได้ดังนี้.....

# “เด็กขอทานเขมร”

ในกลุ่มนี้จะเข้าสู่ประเทศไทยใน 2 เส้นทางหลัก คือ ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ซึ่ง “นายหน้า” จะเป็นผู้นำเด็กมาขึ้นรถไฟ แล้วปล่อยตัวลงตามจุดนัดหมายที่นัดไว้กับผู้ร่วมขบวนการ เพื่อกระจายเด็กขอทานลงตามจุดต่างๆทั่วกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ๆ ในจังหวัดต่างๆ ส่วนอีกเส้นทางจะมาทาง “รถตู้” เพื่อให้ยากต่อการจับกุม

# “เป่าแคนแลกเงิน”

ส่วนใหญ่เป็นเด็กมาจาก จ.สุรินทร์ ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน ใน จ.สุรินทร์ ที่ยึดอาชีพนี้ โดยมีสาเหตุมาจากความ “ยากจน”ในกลุ่มนี้จะมีผู้ปกครองพาเด็กมา “เป่าแคนขอทาน” ด้วยตัวเอง ซึ่งเด็กขอทานกลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะรายได้ดีคนหนึ่งตก 10,000-30,000 บาทต่อเดือน ทำให้หลายครอบครัวนิยมนำลูกหลานเข้ามาเป่าแคนขอทานในกรุงเทพฯ


“พ่อแม่บางคนพาเด็กมาเป่าแคนแลกเงินโดยคิดว่าไม่ใช่การขอทาน แต่เป็นการแสดงความสามารถ บางทีเด็กก็ไม่ได้สมัครใจ แต่ก็ต้องมา ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าเด็กส่วนใหญ่เป่าแคนไม่เป็นเพลง ทำได้แค่เพียงเป่าลมเข้าไปในแคนเพื่อให้มีเสียงออกมาเท่านั้น” วิธนะพัฒน์ กล่าว

# “เด็กเร่ร่อนขอทาน”

ส่วนใหญ่ก็อยู่ตามใต้สะพานลอย แม้จะถูกจับก็ไม่เลิกพฤติกรรม เมื่อถูกปล่อยตัวออกมาก็ยังมาใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะจากสภาพครอบครัวที่แตกแยกทำให้เด็กหนีออกจากบ้านมาเป็นขอทานอย่างตั้งใจโดยไม่นึกถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา

“ถ้าเราไปใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามจับกุม ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนขอทานได้มีแต่ทำให้แย่ลงเพราะเด็กพวกนี้ก็จะย้ายถิ่นฐานไปจุดอื่น ทำให้ปัญหาเด็กเร่ร่อนขอทานขยายวงกว้าง และยังเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติอยู่ในขณะนี้” หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน กล่าว

# “เด็กหายกลายเป็นขอทาน”

ในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้แจ้งข้อมูลเด็กหายเข้ามามากกว่า 100 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากเด็กที่ถูก “ลักพาตัว” ไปเป็นขอทาน แต่ปัจจุบันสามารถติดตามกลับคืนสู่ครอบครัวได้แล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูล พบว่า เด็กที่ถูกลักพาตัวไปเป็นขอทานจะมี
“ออเดอร์” จากกลุ่มแก๊งเข้ามาถึงนายหน้า หรือขบวนการลักพาตัวเด็ก ซึ่งเด็กที่ “แก๊งขอทาน” ต้องการมากที่สุด คือ เด็กที่มีความพิการทางร่างกาย รองลงมา คือ เด็กเล็ก เพื่อเรียกความสงสารได้ง่าย

“เด็กในกลุ่มนี้พอโตจนหมดความน่าสงสาร ส่วนใหญ่ก็อายุราวๆ 13 ปี ก็จะถูกเปลี่ยนไปทำหน้าที่อุ้มเด็กเล็กไปนั่ง หรือเดินขอทานแทน หรือไม่ก็ถูกส่งไปทำหน้าที่อื่นเลย เช่น ขายดอกไม้ดอกกุหลาบในสถานบันเทิง เป็นต้น” วิธนะพัฒน์กล่าว

# “ขอทานเช่า”

กลุ่มนี้ก็จะมีนายทุนไปตระเวนหาเช่าเด็กจากพ่อ-แม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ฐานะยากจน และเป็นกลุ่ม “เด็กต่างชาติ” มีทั้งเช่าแบบ “รายวัน-รายเดือน” ราคาเช่าคนละ 1,500-3,000 บาท ส่วนรูปแบบก็ไม่ต่างกันมาก คือ เช่ามาเป็น “เด็กขอทาน” เมื่ออายุ 5 ขวบหมดความน่าสงสาร ก็ให้เปลี่ยนไปขายดอกไม้ พวงมาลัย และทิชชู ตามร้านอาหารและสถานบันเทิงย่านต่างๆ

วิธนะพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่น่าตกใจที่สุด คือ การที่เด็กพวกนี้เข้ามาเป็นขอทาน เพราะเกิดจากความสมัครใจของพ่อแม่ ซึ่งถูกหลอกว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า จึงได้นำตัวเองและลูกเข้ามาสู่ขบวนการค้ามนุษย์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งมูลนิธิเริ่มรณรงค์ต้านธุรกิจเด็กขอทานมาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี เพราะเห็นว่า “เด็ก” ไม่สมควรจะมานั่ง หรือเดินขอทานอยู่ตามท้องถนน แต่น่าจะนั่งอยู่ในโรงเรียน หรือเล่นสนุกไปตามประสาเด็กๆ มากกว่า

ปัญหา “เด็กขอทาน” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่อีกไม่กี่ปีไทยก็จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ก็น่ากลัวว่าปัญหานี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปด้วย เพราะการลักลอบนำเด็กเข้าประเทศจะทำได้ง่ายขึ้นอีก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมควร “หยุดสร้างบุญบนธุรกิจบาป” ช่วยกันใส่ใจต่อปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ให้ได้รับการศึกษา และโอกาสทางสังคมที่ดีขึ้น

บุษยมาศ ซองรัมย์
SCOOP@NAEWNA.COM



http://www.naewna.com/scoop/115068

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น