ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
สาบานต่อหน้าพระแก้วมรกต อำนาจควบคุมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์?
พล.อ.ชินเสณ ทองโกมล ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินของสมาคมฟุตบอลไทย นำคณะผู้ตัดสินฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกฯ จำนวน 100 กว่าคน เข้าพิธีสาบานตนต่อหน้าพระแก้วมรกต บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามฯ
ถวายดอกไม้ธูปเทียน พนมมือกล่าวคำสาบาน “ข้าพเจ้า...(ชื่อ-นามสกุล)...ขอให้คำสัตย์ปฏิญาณสาบานตนว่า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสินฟุตบอลด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา และข้าพเจ้าขอให้คำสัตย์ปฏิญาณสาบานตนว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสินฟุตบอลด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีผู้ตัดสินฟุตบอล สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดไป”
1) การสาบานตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมไทย
เพราะสังคมไทยทุกระดับชั้น ล้วนแต่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการสาบานอยู่ทั้งนั้น
ขุนนางชั้นสูงในอดีต ต้องเข้าพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา กล่าวคำสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แล้วก็ต้องดื่มน้ำที่แช่อาวุธเอาไว้ เตือนให้รู้ว่า ถ้าใครคิดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ อาวุธทั้งหลายที่แช่อยู่ในน้ำสาบานนั้น จะลงโทษถึงตาย
นายทหารต้องเข้าพิธีสาบานตนต่อธงชัยเฉลิมพล
กกต.บางยุค ก็เคยพาผู้สมัคร สส.ไปสาบานว่าจะไม่ทุจริตการเลือกตั้งต่อหน้าวัดพระแก้วเหมือนกัน
สส. สว.ต้องกล่าวคำปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่
แกนนำเสื้อแดงไปสาบานต่อหน้าย่าโมว่าจะเลิกข้องเกี่ยวการเมือง
อดีต สส.ขี้ข้าทักษิณบางคนก็เคยสาบานต่อหน้าสื่อมวลชนว่า ตนไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา “หากว่าผมผิด ขอให้แม่ผมตาย”
อดีตรัฐมนตรี แกนนำเสื้อแดง เคยสาบานบนเวทีหาเสียงว่า ถ้าตนเกี่ยวข้องกับการเผาบ้านเผาเมืองปี 2553 ขอให้เริ่มฉิบหายลงไปทุกวันๆ ฯลฯ
2) การสาบาน คือการประกาศสัจจะต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์
มุ่งแสดงถึงความมั่นคงของจิตใจ ว่าจะมุ่งมั่นซื่อตรงต่อคำพูดที่ตนได้ลั่นวาจาไว้ต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์
งานนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสมือนเป็นพยาน
หากในคำสาบานมีการระบุด้วยว่า ถ้าไม่ทำตามคำสาบานแล้ว ขอให้มีอันเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้... ก็จะยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพราะเสมือนว่ามีบทลงโทษสำหรับกรณีผิดคำสาบานด้วย
ถ้าแบบนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะไม่ใช่เพียงพยาน แต่จะกลายเป็นหลักประกัน เป็นผู้ค้ำประกัน หรือเป็นศาลอาญาสิทธิ์ ที่ถูกคาดหวังว่าต้องคอยติดตามเช็คบิล หรือทวงหนี้คำสาบานด้วยเมื่อมีการผิดคำสาบาน
น่าเสียดายว่า คำสาบานของกรรมการฟุตบอลไทยเป็นลักษณะสาบานแบบไม่มีบทลงโทษ
3) การสาบานของผู้ตัดสินไม่สามารถพิสูจน์การกระทำผิดได้ ทั้งก่อนและหลังสาบาน
แต่มันสะท้อนว่า กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับผู้ตัดสินในวงการฟุตบอลไทย มีครหาหนัก ขาดความน่าเชื่อถือ และแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ (เพราะถ้าแก้ง่ายๆ ก็คงไม่ต้องไปรบกวนสิ่งศักดิ์สิทธิ์)
พล.อ.ชินเสณ ท่านก็ยอมรับว่า “การนำผู้ตัดสินมาสาบานต่อหน้าพระแก้วมรกต สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ในวันนี้ เป็นการให้ผู้ตัดสินมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ ให้ทุกส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็น ถ้าหากว่าผู้ตัดสินไม่ทำตามที่สาบานไว้ ก็ไม่เป็นมงคลกับตัวเขาเอง แต่นอกจากนี้ก็อยากให้ทุกส่วนมีสปิริตเช่นกัน ไม่ใช่แต่เพียงผู้ตัดสิน อยากให้ผู้เล่นเคารพการตัดสิน และสโมสรเชื่อใจ ถ้าหากว่าผู้ตัดสินผิดพลาดก็ให้ร้องเรียนเข้ามาและจะมีบทลงโทษ...”
4) การแก้ปัญหาความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินฟุตบอลไทย ยังต้องมีมาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากการสาบานต่อหน้าพระแก้วมรกต
ผู้ตัดสินที่ถูกครหาอยู่ ก็จะต้องถูกสอบสวน ไต่สวน โดยบุคคลที่ได้รับการยอมรับเชื่อถือจากประชาคมฟุตบอลทั้งหลาย ทั้งสโมสรฟุตบอล แฟนบอล สื่อมวลชน มิใช่มาสาบานตนแล้วก็เชื่อว่าบริสุทธิ์แล้ว
การแข่งขันที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่ง ตัดสินว่าใครจะเป็นแชมป์ ใครจะตกชั้น เกี่ยวข้องกับเกียรติยศและผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาล ก็ควรจะเพิ่มมาตรการเพื่อป้องกันควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน เพิ่มความน่าเชื่อให้มากที่สุด ลดช่องโหว่ให้ถูกครหาได้น้อยที่สุด เช่น
ขจัดข้อครหาล็อกตัวผู้ตัดสิน... ก็อย่าให้ผู้ตัดสินที่ทีมคู่แข่งไม่ยอมรับเข้ามาทำหน้าที่ หรือจับสลากว่าใครจะตัดสินนัดไหนก่อนแข่งขันเพียงเล็กน้อย
ขจัดความผิดพลาดในการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในสนาม... ก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย หรือใช้ผู้ช่วยเพิ่มเติม จังหวะไหนไม่ชัดเจนก็ให้มีการดูภาพบันทึกเทปได้
ระหว่างการแข่งขัน หากพบว่าผิดพลาดร้ายแรง แม้ไม่อาจกลับไปแก้ไขผลที่เกิดขึ้นได้ ก็ควรให้มีการเปลี่ยนตัวผู้ตัดสินได้ทันที ไม่ต้องรอจบการแข่งขัน พร้อมลงโทษในฐานบกพร่อง และสอบสวนด้วยว่ามีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่
ถ้าชอบสาบาน... ลองพิจารณาว่า หากให้ผู้ตัดสินกล่าวคำปฏิญาณสาบานต่อหน้าคนดูทั้งสนาม ก่อนการแข่งขัน จะมีผลต่อการทำหน้าที่ดีกว่าสาบานครั้งเดียวหรือไม่?
แต่ที่น่าจะได้ผลกว่าการสาบาน คือ ระบบตรวจสอบกำกับดูแลที่เข้มงวด ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบการฝึกซ้อมฝึกฝนผู้ตัดสิน ระบบการจ่ายค่าตอบแทนผู้ตัดสิน ระบบการดูแลความปลอดภัยของผู้ตัดสิน ระบบการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของผู้ตัดสิน การเชิดชูยกย่องให้รางวัลผู้ตัดสิน การป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ตัดสิน การสอบสวนลงโทษอย่างเด็ดขาด ถ้าทำหน้าที่บกพร่องเล็กน้อยก็ต้องถูกลงโทษบ้าง ถ้าผิดร้ายแรงก็ต้องลงโทษสถานหนัก เอาผิดกับผู้จ้างวานด้วย ฯลฯ
5) สุดท้าย... ไม่ว่าจะผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอล หรือนักการเมือง ข้าราชการ การสาบานไม่ใช่เครื่องยืนยันความบริสุทธิ์ และไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าจะไม่กระทำผิด
เสมือนเป็นเพียงสัญญาที่ทำกันสองฝ่าย คือ ระหว่างผู้สาบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ถ้าผู้สาบานไม่สำนึกในการกระทำ ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่ละอายต่อความชั่ว ก็ดูเหมือนสัญญานั้นจะไร้ผลในทางปฏิบัติ เพราะเหลือเพียงรอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ติดตามบังคับเอาตามสัญญา
คำสาบานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะเกิดขึ้นในสังคมที่มีกลไกตรวจสอบเข้มแข็งเท่านั้น!
สารส้ม http://www.naewna.com/politic/columnist/13714
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น