ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
“ขาย-ดื่ม-เมา” บนรถไฟถึงเวลาห้ามได้แล้วหรือยัง?
กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญที่สังคมให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ หลัง พ.ต.ท.ทรงกลด พัฒนวราภรณ์ พงส.ผนพ. (หัวหน้างานสอบสวน) สน.นพวงศ์ เปิดเผยว่า เมื่อ 7 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา มีผู้ปกครองรายหนึ่งมาแจ้งความว่า “น้องแก้ม” (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) เด็กสาวอายุ 13 ปีรายหนึ่งซึ่งเป็นญาติของตน หายตัวไประหว่างการเดินทางบนขบวนรถไฟ สายสุราษฎร์ธานี – กรุงเทพฯ โดยคาดว่าน่าจะเกิดเรื่องขึ้นขณะที่ขบวนรถแล่นอยู่ในเขต จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่สามารถติดต่อได้
ต่อมา 8 ก.ค. 2557 มีรายงานว่าหลังตำรวจสอบเครียดผู้ต้องสงสัยรวม 4 รายที่เป็นพนักงานประจำรถ นายวันชัย แสงขาว หนุ่มวัย 22 ปี 1 ในผู้ต้องสงสัย ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือข่มขืนและฆ่าเด็กสาวรายนี้ ก่อนนำร่างของเด็กสาวโยนออกทางหน้าต่างช่วงสถานีวังก์พงถึงสถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยให้การว่า ตนนั้นดื่มสุรากับเพื่อนพนักงานด้วยกันจนเมา เมื่อเดินผ่านเด็กสาวที่หลับอยู่รู้สึกเกิดอารมณ์ทางเพศจึงลงมือข่มขืนแล้วฆ่าดังกล่าว
“ผมไม่เคยมองน้องเขามาก่อนเลย แต่เพราะกินเบียร์เข้าไป จนเกิดอาการเมา ขณะเดินผ่านโบกี้เห็นน้องเขานอนหลับอยู่ จึงทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ” ผู้ต้องหารายนี้รับสารภาพ
เรื่องของการดื่มสุราแล้วก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก เช่นเมื่อปลายปี 2556 กระทรวงสาธารณสุข โดย นายสรวงศ์ เทียนทอง ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในขณะนั้น เปิดเผยว่า ข้อมูลปี 2554 พบว่ามีเด็กและสตรีถูกกระทำจำนวน 22,565 ราย เป็นเด็ก 11,491 ราย เป็นหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป 11,074 ราย ปัญหาที่พบในกลุ่มเด็กอันดับ 1 คือ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ พบ 8,518 ราย รองลงมาคือทางร่างกาย 2,413 ราย
และเมื่อวิเคราะห์ถึงแรงจูงใจของผู้กระทำ แม้อันดับ 1 จะเป็นเรื่องของการเกิดอารมณ์หลังเสพสื่อลามกอนาจาร แต่รองลงมา ผู้ก่อเหตุมักทำหลังจากดื่มสุราหรือเสพยาเสพติดจนเมา ทั้งนี้นอกจากการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว การทำร้ายร่างกายก็เป็นปัญหาสืบเนื่องจากการดื่มสุราจนเมาเช่นกัน ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2552 ระบุว่า ฝ่ายหญิงที่ถูกฝ่ายชายทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 24.9 มาจากฝ่ายชายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ในอันดับสอง เป็นรองแต่เพียงแต่การทะเลาะกันจากพฤติกรรมส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 32.7 เท่านั้น
ขณะที่มาตรการห้ามขาย-ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ ที่ผ่านมาก็มีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อช่วงก่อนเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2556-ต้อนรับปีใหม่ 2557 ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เปิดเผยผลสำรวจผู้ใช้บริการรถไฟจำนวน 1,160 ตัวอย่าง
พบว่าร้อยละ 85.95 มองว่าการขายและดื่มสุราบนรถไฟเป็นปัญหาใหญ่และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้โดยสาร และร้อยละ 93.53 เห็นด้วยหากมีการออกกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มสุราบนรถไฟ เพราะช่วยให้ผู้โดยสารปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ร้อยละ 86.03 ยังเห็นด้วยหากกฎหมายนี้จะครอบคลุมไปถึงบริเวณสถานีรถไฟด้วย
ล่าสุด 8 ก.ค. 2557 ภก.สงกรานต์ ให้สัมภาษณ์กับ “สกู๊ปหน้า 5” ระบุว่า ที่ผ่านมาได้เสนอเรื่องดังกล่าวผ่านไปยังกระทรวงสาธารณสุขแล้ว นอกจากนี้ยังได้แสดงความเป็นห่วงหลังเกิดกรณีเด็กสาวถูกคนร้ายที่เมาสุราข่มขืนแล้วฆ่าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการ 2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน) และ คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) จึงจะออกเป็นประกาศมาบังคับใช้ได้
“ถ้ามันมีตู้เสบียง แล้วก็มีคนข้างทาง แม่ค้าข้างทางเอาขึ้นมาขายกัน หิ้วกระติกขึ้นมาขายกัน ถ้ามันเป็นแบบนี้มันไม่ใช่เฉพาะพนักงานหรอกครับ ผู้โดยสารทั่วไปก็มีสิทธิ์ที่จะเมาแล้วก่อเหตุ คือในรถไฟมันหนักนะ มันหนีไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว
ตอนนี้กำลังรอคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตอนนี้คงเป็นปลัดณรงค์ (นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข) คือธรรมดารัฐมนตรีเป็นประธาน ตอนนี้ปลัดณรงค์ปฏิบัติหน้าที่แทน เข้าใจว่าท่านกำลังจะนัดประชุมอยู่ ถ้ามีข่าวนี้ก็น่าจะไปเร่งให้เร็วขึ้น” ภก.สงกรานต์ กล่าว
เมื่อสอบถามไปยัง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปลัด สธ. ชี้แจงว่า ล่าสุดมาตรการห้ามขายและดื่มเครื่องดื่มมึนเมาบนรถไฟ กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมการ โดยอยู่ในความดูแลของกรมควบคุมโรค
อีกด้านหนึ่ง นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท. ยังไม่มีมาตรการห้ามบุคคลขาย , ดื่ม และนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นบนรถไฟ แต่เร็วๆ นี้จะมีการออกประกาศห้ามอย่างแน่นอน ทั้งนี้หากเป็นในส่วนของพนักงานที่ฝ่าฝืน จะถือว่ามีความผิดทางวินัยร้ายแรงอีกด้วย
“ยังไม่ได้ห้ามครับ ก็มีซื้อขึ้นไปส่วนตัวก็มี แต่เราจะพิจารณาออกระเบียบห้าม ไม่ว่าจะนำขึ้นไปเองหรือขาย คือจะไม่ให้ขายแล้ว แล้วก็จะห้ามนำขึ้นไปด้วยเด็ดขาด ถ้าพบว่ามีเราจะเชิญลง ทั้งผู้โดยสารและพนักงาน แล้วถ้าเป็นพนักงานถือว่าผิดทางวินัยร้ายแรง”
ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วต้องการเดินทางโดยรถไฟ หลังมีระเบียบนี้ยังสามารถทำได้ โดยฝากไปในช่องพิเศษซึ่งตัวเครื่องดื่มนั้นจะไม่อยู่กับตัวผู้โดยสาร คล้ายกับการโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องบิน ซึ่งวิธีนี้ผู้โดยสารจะไม่สามารถนำมาดื่มได้แน่นอน
จากเหตุครั้งนี้ แม้มาตรการต่างๆ ที่ออกตามมาจะถูกมองว่าเป็น “วัวหายล้อมคอก” ก็ตาม แต่ก็ขอให้เร่งออกมาโดยเร็ว และมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง อย่าให้เป็นเพียง “ไฟไหม้ฟาง” ที่เมื่อผู้ต้องหาถูกจับได้และกระแสสังคมเริ่มเงียบ ทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิม ความปลอดภัยของคนเดินทางด้วยรถไฟยังน่าห่วง เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา
เพราะทุกวันนี้ “รถไฟไทย” ก็มีภาพลบหลายเรื่องในสายตาประชาชนอยู่แล้ว!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
http://www.naewna.com/scoop/111661
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น