วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เรื่องมึนๆ ของ คสช. - ยุคทองของ กอ.รมน. และไฟใต้ในมือบูรพาพยัคฆ์


เริ่มออกอาการ "หลุด" บ้างแล้วเหมือนกันสำหรับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. หลังจาก "ปั่น" งานกันมา 2 เดือนเต็มๆ

three

2 เดือนนับตั้งแต่เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พ.ค.57 คสช.ทุบสถิติออก "ประกาศ" ไปแล้วร้อยกว่าฉบับ ส่วน "คำสั่ง" ก็ไล่หลังกันมาติดๆ บางประกาศ-คำสั่งคงเป็นแบบ "คิดแล้วประกาศเลย" ถึงได้หลุดข้อความเชยๆ พลาดๆ ออกมาบ้างเหมือนกัน

เช่น ประกาศฉบับที่ 103/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 ที่มีเนื้อหาว่าด้วยการควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น ในข้อ 1 ของประกาศฉบับหลังที่อ้างถึงประกาศฉบับที่ 97 ว่าให้ยกเลิกความใน (3) ข้อ 2 ตามประกาศเดิม (การห้ามวิพากษ์วิจารณ์ คสช.) ปรากฏว่าพอย้อนไปดูประกาศเดิมในข้อ 2 กลับไม่เห็นมีข้อย่อย...

กระทั่งอ่านไล่ๆ กันลงไปนั่นแหละจึงได้พบว่าข้อความที่จะให้ยกเลิกมันอยู่ใน (3) ของข้อ 3 ต่างหาก!

เมื่อแก้ผิดแบบนี้ จึงมีบางคนตั้งข้อสงสัยว่าตกลงวันนี้เราวิจารณ์ คสช.ได้หรือยัง หรือการแก้ไขนั้นหาได้มีผลในทางปฏิบัติไม่ เพราะแก้ผิดข้อ สื่อรายใดวิจารณ์ คสช. ยังอาจโดนโทษสั่งปิด สั่งระงับรายการได้เหมือนเดิม...หรือเปล่า???

อีกเรื่องที่มีคนกระซิบว่า "ผิดเต็มๆ" ก็คือ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 96/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ชื่อย่อว่า คปต. โดยในคำสั่งระบุให้ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) เป็นประธาน ซึ่งนาทีนี้ไม่ต้องเอ่ยชื่อท่าน เพราะจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ "บิ๊กโด่ง" พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ.ซึ่งมีตำแหน่งเดียวในไลน์ 5 เสือ ทบ. ประกอบกับก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดตัว "บิ๊กโด่ง" มาล่วงหน้าแล้ว ทั้งผ่านการแถลงข่าวและเดินทางล่องใต้ เมื่อ 7 ก.ค.57

หลายคนสงสัยว่าอีกไม่เกิน 2 เดือนก็ต้องมีการปรับย้ายวาระประจำปี และ "บิ๊กโด่ง" เองก็มีลุ้นเป็น ผบ.ทบ. ถ้าแกขยับไปนั่งเก้าอี้เบอร์หนึ่งของ ทบ. มิต้องแก้คำสั่งให้วุ่นวายกันอีกหรือ

คิดอีกมุม หากไม่แก้คำสั่งก็อาจเป็นได้ว่าจะให้รอง ผบ.ทบ.คนใหม่มาทำหน้าที่แทน ถ้าเป็นอย่างนั้นปัญหาหลักภาคใต้อาจไม่ใช่ปัญหา "แบ่งแยกดินแดน" แต่จะกลายเป็นปัญหา "เก้าอี้ดนตรี" มากกว่า เพราะเปลี่ยนคนทำหน้าที่ถี่เหลือเกิน หนำซ้ำบางคนยังแอบคิดแง่ร้ายหนักเข้าไปอีกว่า หรือ "บิ๊กโด่ง" จะไม่ได้เป็น ผบ.ทบ.แล้วตามที่เขาร่ำลือกัน...ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ถือว่าเป็นข่าวร้ายสุดๆ ...

แต่ที่ตั้งข้อสังเกตมานั่นยังไม่ใช่จุดผิดพลาดบกพร่อง เพราะเรื่องที่หลายคนเห็นแล้วต้องร้อง "ไอ๊หยา" ก็คือ รองผบ.ทบ.ที่เป็นประธาน คปต.นั้น ระดับของตำแหน่งทางราชการ "ต่ำกว่า" กรรมการเกือบทุกคนใน 20 คนที่ตั้งมา โดยเฉพาะ "ปลัดกลาโหม" ตามโครงสร้างกระทรวงแล้วเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการเหล่าทัพเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้นระดับ "รองผบ.ทบ." ไม่ต้องพูดถึง แต่เจ้ากรรมดันไปเป็นลูกน้องรอง ผบ.ทบ.ในกรรมการ คปต.

นี่ยังไม่รวมปลัด มท. ยธ. ศธ. หรือแม้แต่เลขาธิการ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) อีกนะท่าน ซึ่งตำแหน่งเหล่านั้นล้วนเป็นข้าราชการระดับ 11 (ส่วนเลขาธิการ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่เป็นไร เพราะแกยอมอยู่แล้ว)

ผู้รู้บอกว่า เรื่องแบบนี้เขามีวิธีแก้ จะตั้งรองผบ.ทบ.นั่งประธานก็ไม่มีใครแส่ใครว่า แต่ในส่วนของกรรมการ ถ้าศักดิ์ของตำแหน่งสูงกว่าประธาน ให้ใช้ชื่อตำแหน่ง แล้วต่อท้ายว่า "หรือผู้แทน" เวลาไปประชุมจะได้ส่งคนไปแทน ไม่ต้องไปนั่งท้ายโต๊ะให้เพลียใจ

หรืออีกวิธีก็ตั้ง "บิ๊กโด่ง" เป็นประธานในฐานะเลขาธิการ คสช.ไป เพราะ คสช.คืออำนาจพิเศษที่เป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ณ เวลานี้

จะว่าไปยุค "คืนความสุข" จากการยึดอำนาจของ คสช. ต้องบอกว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคทองของหน่วยงานที่ชื่อ กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

กอ.รมน.ถือเป็นองค์กร "แมวเก้าชีวิต" ขนานแท้และดั้งเดิม จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ในยุคสงครามเย็น ต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โครงสร้างขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยก่อนแม้จะมี พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 แต่ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.โดยตรง

กระทั่งหมดยุคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 43 ได้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฯ และมีแนวคิดยุบเลิก กอ.รมน. แต่ ปชป.ก็หมดอำนาจไปเสียก่อน

มาถึงยุครัฐบาล "คิดใหม่ ทำใหม่" แม้จะยุบเลิกองค์กรที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เห็นว่าไม่มีประโยชน์ไปมากมาย รวมถึง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ตั้งมาตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 หรือ พตท.43 ซึ่งเป็นหน่วยใช้กำลังแบบบูรณาการที่ชายแดนใต้ ทว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้ยุบ กอ.รมน. เรียกว่ารอดมาได้อย่างไรก็ไม่รู้

หนำซ้ำเมื่อไฟใต้ปะทุขึ้นระลอกล่าสุดเมื่อปี 2547 รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงในสมัยนั้น คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็หันมาใช้กลไก กอ.รมน.เข้าไปจัดการปัญหา และเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เป็นรองผอ.รมน.

ช่วงปลายรัฐบาลคุณทักษิณ ก่อนจะถูกยึดอำนาจ ปรากฏว่าเจอ กอ.รมน.ทำพิษ เพราะมีการจับกุมรถยนต์ติดตั้งระเบิด หรือ "คาร์บอมบ์" ที่เชื่อว่ามีเป้าหมายลอบสังหารคุณทักษิณ แล้วมีการสืบสวนทวนความจนได้ข้อมูลว่า "คาร์บอมบ์" คันนั้นน่าจะเป็นรถคันเดียวกับที่ขับออกจาก กอ.รมน.ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ทำให้ พล.อ.พัลลภ ถูกปลด

ทว่าก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำอะไรมากกว่านั้น เขาก็ถูกยึดอำนาจ และรัฐบาลที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหารก็ผลักดัน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ออกมารองรับโครงสร้าง กอ.รมน.ที่มี "มือ-ไม้-แขน-ขา" ยาวลงไปถึงระดับจังหวัดและอำเภอ โดยอิงกับโครงสร้างของกองทัพภาคทั้ง 4 ภาค

กองทัพบกจึงเป็นพระเอกใน กอ.รมน.โดยประการฉะนี้

นับจากนั้น กอ.รมน.ก็เริ่มมีงบประมาณเป็นของตนเอง คือ ของบและบริหารจัดการงบเองได้ โดยเฉพาะ "งบดับไฟใต้" เพราะได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในภารกิจแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่ปลายด้ามขวาน

ตัวเลขงบดับไฟใต้ของ กอ.รมน.เริ่มจาก 35 ล้านบาทในปี 51 เป็น 7,535 ล้านบาทในปี 52 แล้วขยับเป็น 7,587 ล้านบาทในปี 53 ตามด้วย 7,542 ล้านบาทในปี 54 จากนั้นก็ลดลงเล็กน้อยในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ คือ 6,276 ล้านบาทในปี 55 และเพิ่มขึ้นอีกครั้งในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คือ 7,280 ล้านบาทในปี 56 และ 7,516 ล้านบาทในปีงบประมาณปัจจุบัน

ล่าสุดหลัง คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครอง กอ.รมน.ก็ได้รับมอบหมายงานสำคัญ คือตั้ง ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. โดยจับมือกับมหาดไทยตั้งศูนย์ฯย่อยถึงระดับหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็ดึงอำนาจการบริหารจัดการ "ปัญหาชายแดนใต้" ในส่วนของงานพัฒนาจาก ศอ.บต.กลับมาดูแลเองทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จ ภายใต้โครงสร้าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่มี่ "แม่ทัพภาคที่ 4" เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด พร้อมเพิ่มอัตรากำลังเข้าไปอีกพอสมควร!!!

ว่ากันว่าเมื่อ คสช.เก็บของกลับบ้าน กอ.รมน.จะมีกลไกแขนขาลงลึกกว่าเก่า จากแค่จังหวัด อำเภอ จะลงไปถึงหมู่บ้าน เพื่อปฏิบัติการด้านสังคมจิตวิทยาในระยะยาว

ถ้าอยากรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ให้น้ำหนักกับ กอ.รมน.มากขนาดไหน เชิญไปอ่านหนังสือชื่อ "กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่" ซึ่งเป็นงานวิจัยของ "บิ๊กตู่" เมื่อครั้งเรียก วปอ. แล้วจะมองเห็นอนาคต กอ.รมน.ที่จะมีความสำคัญในแทบทุกบริบทของเมืองไทย

นั่งเขียนบทความนี้...พูดถึง "บิ๊กโด่ง" พล.อ.อุดมเดช ในตอนต้น แล้วก็พูดถึงแม่ทัพภาคที่ 4 กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.ในช่วงท้าย ทำให้นึกขึ้นได้ว่าปัญหาชายแดนใต้ ณ พ.ศ.2557 อยู่ในกำมือของนายทหารสาย "บูรพาพยัคฆ์" แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงๆ

พิจารณาตามโครงสร้าง ระดับนโยบาย ควบคุมโดยหัวหน้า คสช. ก็คือ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ตท.12) บูรพาพยัคฆ์ที่ยืนอยู่หัวแถวของกองทัพขณะนี้

ระดับแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ก็คือ "บิ๊กโด่ง" พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) บูรพาพยัคฆ์แถวสอง รอขึ้นหัวแถวในวาระปรับย้ายประจำปีในปีนี้

ระดับปฏิบัติ คุมเกมโดย "บิ๊กอู๊ด" พล.ท.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) บูรพยัคฆ์แถวสามที่รอลุ้นผงาดใน 2 ปีสุดท้ายของอายุราชการ

งานนี้ถ้าสำเร็จก็ได้โล่ไป แต่ถ้าไม่...ก็ต้องรับไปเต็มๆ





http://www.isranews.org/south-news/talk-with-director/item/31551-gold_31551.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น