ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
ถล่ม “ฮามาส” ในมุมมองอิสราเอล
เกษม อัชฌาสัย
หลังจากการโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบินและขีปนาวุธต่อเป้าหมายในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคมสิ้นสุดลงเป็นการปูพรมเตรียมการส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าตีสร้างความพินาศย่อยยับแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์อย่างหนักและเหี้ยมโหด เพราะในการทำสงครามไม่มีความปราณีใด ๆ
วันที่ ๑๗ กรกฎคม เวลา ๑๐.๐๐ น.ตรงอิสราเอลก็เคลื่อนหน่วยรถถังบุกข้ามพรมแดนติดตามด้วยหน่วยทหารราบหลายพันนายพร้อมหน่วยทหารช่างมุ่งทำลายเป้าหมายสำคัญคืออุโมงค์ใต้ดินที่กลุ่มฮามาสซ่อนฐานยิงจรวดและคลังแสงซึ่งใช้โจมตีอิสราเอลรวมทั้งอุโมงค์ซึ่งใช้แทรกซึมเข้าอิสราเอลด้วย
การรุกรบครั้งนี้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูแห่งอิสราเอลได้ลั่นวาจาเอาไว้ว่าจะต้องทำลายขุมพลังของกลุ่มฮามาสที่ก่อกวนอิสราเอลมาโดยตลอดให้ได้
รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ “เธอะ วอลสตรีต เจอร์นัล” ระบุว่าในตอนเช้าวันศุกร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ทหารอิสราเอลเสียชีวิตไปหนึ่งนาย สมาชิกกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ถูกสังหาร ๑๔ รายจากการปะทะกันช่วงคืนที่ผ่านมา
การรุกคืบของหน่วยรบภาคพื้นดินอิสราเอลเกิดขึ้นพร้อมๆกับการโจมตีทางอากาศของฝ่ายอิสราเอลที่กระหนาบขยายแนวออกตามชายแดนซึ่งเชื่อมต่อระหว่างอิสราเอลกับฉนวนกาซายาว ๓๖ ไมล์ซึ่งนอกจากคุ้มครองทหารที่รุกเข้าไปแล้วก็เป็นการสร้างแนวป้องกันการบุกเข้าอิสราเอลของกลุ่มฮามาสด้วย
ในการนี้ทางฝ่ายกลุ่มฮามาสนอกจากต้องพยายามต่อต้านการรุกรบทางภาคพื้นดิน ก็ยังคงระดมยิงจรวดเข้าไปในดินแดนอิสราเอลอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งพร้อมส่งหน่วยรบผ่านอุโมงค์แทรกซึมเข้าแนวหลังของอิสราเอล แต่ก็ทำได้อย่างจำกัด
ทั้งสองฝ่ายจะกระทำการยุทธ์กันอีกนานเท่าไร เข้าใจว่าอีกไม่กี่วันก็คงจะเห็นผลเพราะความเข้มแข็งของกลุ่มฮามาสนั้นตกเป็นรองอิสราเอล ไม่อาจเทียบเคียงได้ทั้งในด้านอาวุธและกำลังพล
จนกระทั่งถึงวานนี้(๒๐ กรกฎาคม)การโจมตีอย่างหนักที่ตำบล “ชูยาอียะห์” ติดพรมแดนกาซาด้านตะวันออก ทำให้ชาวปาเลสไตน์ที่นั่นตื่นตระหนกทิ้งบ้านทิ้งช่องเฮโลกันหนีด้วยความกลัวสุดขีด มุ่งหน้าไปยัง “กาซา ซิตี้” เมืองเอกของฉนวนกาซา สตรีลูกเล็กเด็กแดงและคนชราพากันหอบข้าวของหนีกันอย่างทุลักทุเล
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตึกรามและที่อยู่อาศัยเป็นไปอย่างกว้างขวาง เกิดจากการโจมตีที่ไม่เลือกเป้าซึ่งอิสราเอลอ้างว่ากองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์เข้าไปปะปนกับชาวบ้าน ใช้ชาวบ้านเป็นโล่มนุษย์ จึงไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ล่าสุดตัวเลขการเสียชีวิตเมื่อเช้ามืดวันจันทร์ของ “อัลจาซีรา” ระบุว่ายอดชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอยู่ที่ ๓๒๕ คนราวหนึ่งในสามเป็นเด็กและสตรี ทางการอิสราเอลแถลงว่ายอดทหารเสียชีวิตในฉนวนกาซารวม ๑๘ นาย นับเป็นความเสียหายสูงสุดตั้งแต่ทำสงครามกับเลบานอนเมื่อปี ๒๕๔๙ส่วนพลเรือนอิสราเอลที่เสียชีวิตเพราะการถล่มจรวดของกลุ่มฮามาสมีเพียงสองราย
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่ากลุ่มฮามาส พยายามตีโต้ด้วยการแทรกซึมเข้าแนวหลังอิสราเอล แต่ไม่มีรายงานข่าวคืบหน้า
กลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มติดอาวุธนิยมใช้ความรุนแรงเด็ดขาดไม่ประนีประนอม ไม่ยอมรับรองว่ามีชาติอิสราเอล มีนโยบายจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นแทนที่อิสราเอล หากมีรัฐปาเลสไตน์ ก็ต้องไม่มีรัฐอิสราเอล เป็นหนึ่งในหลายๆ ขบวนการปลดแอกปาเลสไตน์ที่มีอยู่มากมายหลายกลุ่มในอดีต แต่ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่เป็นเรื่องเป็นราวก็คือ องค์การปลดแอกปาเลสไตน์ หรือ พีแอลโอ ซึ่งมีฐานอยู่ในเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนมีนโยบายเดินทางสายกลาง ที่จะอยู่ร่วมกับรัฐอิสราเอล แต่ขณะนี้ไม่ค่อยจะมีบทบาทมากนัก หลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่กลุ่มฮามาสครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๐ แต่เป็นที่ยอมรับทางสากลและมีตัวแทนนั่งอยู่ในองค์การสหประชาชาติ ในขณะที่กลุ่มฮามาสนั้นอิสราเอล สหรัฐและอีกหลายชาติรวมทั้งญี่ปุ่นถือว่ามีฐานะเป็นเพียงกลุ่มก่อการร้ายเท่านั้นขณะที่รัสเซีย จีน อิหร่าน ตุรกีและชาติอาหรับบางชาติไม่ถือว่าเป็น
กลุ่มฮามาสถือกำเนิดขึ้นในปี ๒๕๓๐ ในฐานะเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของขบวนการ “ภราดรภาพมุสลิม” หรือ Muslim Brotherhood ยึดหลัก “อิสลามนิยม” ตามวิถีของนิกาย “ซุนนี” โดยมี “เชค ยัสซิน” เป็นผู้นำและผู้ร่วมก่อตั้ง
กฎบัตรของฮามาสที่กำหนดขึ้นในปี ๒๕๓๑ ระบุเป้าหมายว่าจะทำหน้าที่ปลดแอกแผ่นดินปาเลสไตน์ จากการยึดครองของอิสราเอล แล้วสถาปนารัฐอิสลามขึ้นมาแทนที่พร้อมผนวกฝั่งตะวันตกและฉนวนกาซาเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐอิสลามที่ว่า
ต่อมาได้ระบุเป้าหมายเพิ่มเติมว่า จะอนุญาตให้ผู้อพยพปาเลสไตน์ในต่างแดนกลับคืนมายังดินแดนปาเลสไตน์ได้และจะสถาปนา “เยรูซาเลมตะวันออก” ขึ้นเป็นเมืองหลวง
ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกนั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมา “กองพลน้อย อิซ อัดดิน อัล-กอซซัม” ซึ่งเป็นหน่วยกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มฮามาส ได้ปฏิบัติการทำลายเป้าหมายอิสราเอลทั้งที่เป็นพลเรือนและทหาร โดยการโจมตีด้วยจรวด ปืนครกและระเบิดพลีชีพ
ทางด้านการเมืองนั้น กลุ่มฮามาสสามารถเอาชนะกลุ่มพีแอลโอ ในการเลือกตั้งทั่วไปและได้เสียงข้างมากในสภาปาเลสไตน์ จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารรัฐปาเลสไตน์ในปี ๒๕๔๙ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากโลกตะวันตกที่ไม่อาจยอมรับ
“จตุภาคี” อันได้แก่ สหรัฐ สหประชาชาติและสหภาพยุโรป ซึ่งเคยให้ความช่วยเหลือรัฐบาลปาเลสไตน์ในยุคที่พีแอลโอ เป็นรัฐบาล ตั้งเงื่อนไขกับกองทัพปาเลสไตน์โดยการบริหารของกลุ่มฮามาสว่า จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงและต้องรับรองการดำรงอยู่ของประเทศอิสราเอลด้วย แต่กลุ่มฮามาสปฏิเสธที่จะทำตามอย่างสิ้นเชิง ส่งให้ “จตุภาคี” ที่ว่าระงับการช่วยเหลืออย่างสิ้นเชิง ในขณะที่อิสราเอลประกาศใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถติดต่อค้าขายใดๆ ผ่านอิสราเอลได้
ในที่สุดกลุ่มฮามาสกับกลุ่มพีแอลโอ ซึ่งมีอุดมการต่างกันในการอยู่ร่วมกับอิสราเอลก็เกิดสู้รบกันขึ้นเองในฉนวนกาซา เป็นการสู้รบสั้นๆ ระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐โดยสหรัฐและอิสราเอลให้การสนับสนุนกลุ่มพีแอลโอ แต่ปรากฏว่ากลุ่มฮามาสชนะยึดครองฉนวนกาซาไว้ได้อย่างเด็ดขาดและปลดเจ้าหน้าที่ฝ่ายพีแอลโอ พร้อมยุบ “รัฐบาลสามัคคี” ทำให้การบริหารแยกออกเป็นสองส่วน คือ “การปาเลสไตน์แห่งชาติ” นำโดยพีแอลโอปกครองดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนและกลุ่มฮามาสปกครองดินแดนกาซา
ผลติดตามมาก็คือ อิสราเอลและอียิปต์ใช้มาตรการ “ปิดกั้นทางเศรษฐกิจฉนวนกาซา” ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีกองกำลังของพีแอลโอ (ฟาตาห์) ในกาซาอีกต่อไปแล้ว
การก่อกวนและบ่อนทำลายอิสราเอลของกลุ่มฮามาสยังคงดำเนินต่อไป ด้วยการระดมยิงจรวดบ้าง ลักพาตัวบ้าง ผ่านทางอุโมงค์เจาะทะลุเข้าไปในดินแดนอิสราเอล จนนำไปสู่การโจมตีกาซาเมื่อเดือนธันวาคมปี ๒๕๕๑ และครั้งต่อมาๆ ในปี ๒๕๕๕ และในปี ๒๕๕๗ ตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคมที่ผ่านมานี้
การโจมตีแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ทำให้โลกมองอิสราเอลทีในแง่ลบว่าโหดเหี้ยมใจร้ายใจดำ เพราะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อพลเรือนปาเลสไตน์โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไร้เดียงสาที่ต้องสังเวยชีวิตและบาดเจ็บในสภาพที่น่าเอน็จอนาถ
อิสราเอลย่อมตระหนักดีว่า ปฏิกิริยาของทั่วโลกจะเกิดขึ้นอย่างไร แต่ก็ยอมเพราะไม่เห็นทางใดที่จะปรองดองได้กับกลุ่มฮามาส
จึงต้องจับตาดูต่อไปว่า การรุกรบคราวนี้ อิสราเอลจะทำถึงขั้นยึดฉนวนกาซาไว้อย่างถาวรหรือไม่ จะติดตามบดขยี้กลุ่มฮามาสให้แหลกราญจนไม่เหลือสักคนหรือไม่
ภารกิจนี้ใหญ่โตนัก เพราะเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้สงครามขยายตัวได้ หากกลุ่ม “มูจาฮิดีน” อันหมายถึงนักรบมุสลิมจากชาติต่างๆ อาจเข้าช่วยกลุ่มฮามาสสู้รบ ด้วยการสนับสนุนจากบางรัฐบาล
ก็ได้แต่ภาวนาว่า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจตามที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอลระบุ ก็จะถอนทหารออกไปเช่นที่เคย ทิ้งความหายนะไว้ให้พลเรือนชาวปาเลสไตน์เผชิญด้วยความทุกข์ทรมานอีกนานเท่านาน
แต่จะไม่ใช่สงครามครั้งสุดท้ายที่อิสราเอลกระทำต่อกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา
สำนักข่าวเจ้าพระยา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น