ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
พิษน้ำเน่า!!! กระเบนราหู-สัตว์น้ำ ตายเกลื่อนบางปะกง
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3
น้ำเน่าทำพิษ!!! พบปลากระเบนราหู-สัตว์น้ำ ลอยตายเกลื่อนแม่น้ำบางปะกง อึ้ง! ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ได้มีชาวบ้านตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา แจ้งเข้ามาว่า ขณะนี้แม่น้ำบางปะกงเริ่มมีสีน้ำตาลส่งกลิ่นเหม็นมานานหลายวันแล้ว และยังพบสัตว์น้ำลอยตายอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ในวันนี้ (11 พฤศจิกายน) นางสุมิตรา ศรีสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมเจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้เดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำบางปะกงที่ท่าน้ำวัดสาวชะโงก
ทั้งนี้ จากการวัดคุณภาพน้ำที่ท่าน้ำวัดสาวชะโงก พบว่ามีค่าออกซิเจนเพียงแค่ 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น ขณะที่เมื่อตรวจสอบในจุดอื่นก็มีค่าไม่แตกต่างกันนัก โดยเฉลี่ยค่าออกซิเจนอยู่ในระดับ 0.50-0.95 มิลลิกรัมต่อลิตร แสดงถึงว่าน้ำในแม่น้ำบางปะกงระยะนี้มีคุณภาพต่ำมาก ซึ่งนายอยู่ เสนาธรรม ผู้อำนายการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้คาดการณ์ว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังนานจนน้ำเน่าเสียได้ปล่อยน้ำที่มีคุณภาพต่ำออกมาจนน้ำไหลมาสู่แม่น้ำบางปะกง
ขณะเดียวกัน ระหว่างที่คณะล่องเรือลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่น้ำบางปะกง ก็ได้พบปลากระเบนขนาดใหญ่ ความกว้างประมาณ 1.8 เมตร ยาวประมาณ 3.5 เมตร ลอยตายอยู่บริเวณท่าน้ำหน้าวัดสามร่ม อำเภอคลองเขื่อน และห่างออกไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็ยังพบปลากระเบนยักษ์ขนาดไม่แตกต่างกันมากนักลอยตายอยู่เช่นกัน จึงได้ตรวจสอบพบว่า คุณภาพน้ำตรงจุดนี้มีค่าออกซิเจนเพียง 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น
ทั้งนี้ นายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลสุข ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ให้ข้อมูลว่า ปลากระเบนที่พบนั้น เป็นกระเบนน้ำจืด ที่เรียกกันว่า กระเบนราหู หรือ กระเบนเจ้าพระยา จัดเป็นปลากระเบนชนิดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยปลากระเบนชนิดนี้มักอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ จนถึงบริเวณใกล้ปากแม่น้ำ และพบครั้งแรกที่แม่น้ำเจ้าพระ ยา จึงถูกตั้งชื่อเรียกว่า "กระเบนเจ้าพระยา" นอกจากนี้ยังพบในแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกงอีกด้วย ส่วนที่เรียกกันว่า "กระเบนราหู" นั้น เป็นเพราะเป็นปลาที่มีลำตัวที่ใหญ่เหมือนราหูอมจันทร์ตามคติของคนโบราณ
ในส่วนของการแก้ปัญหาดังกล่าว นางชุติมา ฉายแสง ระบุว่า เบื้องต้นจะใช้แนวทางติดตั้งกังหันไชยพัฒนาในคูคลอง เพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำเป็นอันดับแรก และวางแผนแก้ไขในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ สาเหตุที่คุณภาพน้ำในแม่น้ำบางปะกงลดต่ำลง เป็นเพราะจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่รับการะบายน้ำที่ท่วมขังจากหลาย ๆ จังหวัด ซึ่งบางส่วนเป็นน้ำเน่าเสีย เพราะน้ำท่วมขังมานานแล้ว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น